หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร)
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระภัททิยเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในสกุลมีสมบัติมาก ไปฟังธรรมของพระศาสดา ในวันนั้น ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูง จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

จึงนิมนต์พระตถาคต ถวายมหาทาน แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน หมอบแทบบาทมูล ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอย่างอื่น ด้วยผลแห่งทานนี้ แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด

พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคต เล็งเห็นความสำเร็จ จึงพยากรณ์ว่า กรรมนี้ของท่าน จักสำเร็จ ในที่สุดแห่งแสนกัปแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระองค์ ทรงกระทำอนุโมทนาภัตรแล้ว เสด็จกลับวิหาร

ครั้นได้ฟังพยากรณ์แล้ว จึงทูลถามกรรม ที่จะให้เป็นไปสำหรับภิกษุผู้เกิดในสกุลสูง ได้กระทำกรรมอันดีงามมากหลาย จนตลอดชีวิต อย่างนี้ คือ สร้างธรรมาสน์ ปูลาดเครื่องลาดบนธรรมาสน์ พัดสำหรับผู้แสดงธรรม รายจ่ายสำหรับพระธรรมกถึก โรงอุโบสถ กระทำกาละ(ตาย) ในอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายในเทวโลกและมนุษยโลกทั้งหลาย

ในระหว่างะระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ และพระพุทธเจ้าของเรา มาบังเกิดในเรือนกุฎุมพี ในกรุงพาราณสี สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์ มาแต่ภูเขาคันธมาทน์ นั่งฉันบิณบาตร ในที่ที่สะดวกสบาย ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เขตกรุงพาราณสี กุฎุมพีนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น กระทำการแบ่งภัตรนั้น ในที่ตรงนั้นเป็นประจำทีเดียว จึงลาดแผ่นหินไว้ ๘ แผ่น บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จนตลอดชีวิต ท่านเวียนว่ายไปในเทวโลก และมนุษยโลกถึงพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระภัททิยเถระ บังเกิดเป็นพระโอรสของนางศากยกัญญา ผู้ทรงพระนามว่า กาฬิโคธาราชเทวี อยู่ในกรุงกบิลพัศดุ์ พระนามว่า ภัททิยราชกุมาร เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาภายหลังอนุรุทธกุมาร ผู้สหายได้มาชักชวนให้ออกบรรพชา

ในชั้นต้น ภัททิยราชกุมารไม่พอใจจะออกบวชด้วย แต่สุดท้ายก็จำเป็นต้องยอมบวช จึงได้ทูลลาพระมารดา สละราชสมบัติ เสด็จออกไปเฝ้าพระบรมศาสดา ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมารห้าพระองค์ คือ อนุรุทธะ, อานันทะ, ภคุ, กิมพิละ, และเทวทัตต์ นับอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลา(ช่างตัดผม) เข้าด้วยเป็น ๗ ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย

มักเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ”
ครั้นพระภัททิยะ ได้อุปสมบทแล้วเป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ในพรรษาที่บวชนั้น เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ในที่ใด คือ ไปในป่าก็ดี อยู่ใต้ร่มไม้ก็ดี อยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่น ๆ ก็ดี มักเปล่งอุทานในที่นั้นว่า “สุขหนอ ๆ” เสมอ ๆ

ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ได้ฟังแล้ว จึงนำความไปกราบทูลพระศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะอุทานอย่างนี้ คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มัวนึกถึงราชสมบัติเป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัย พระบรมศาสดา รับสั่งให้หาพระภัททิยะมาเฝ้าแล้วตรัสถามว่า “ภัททิยะ ได้ยินว่า ท่านเปล่งอุทานอย่างนั้น จริงหรือ?”
“จริงพระพุทธเจ้าข้า”
“เพราะเหตุใด จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น”

ท่านภัททิยะกราบทูลว่า “เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาความปลอดภัย ทั้งภายในวัง และนอกวัง ทั้งภายในเมือง และนอกเมือง จนตลอดทั่วอาณาเขต ข้าพระพุทธเจ้า แม้มีคนมารักษาความปลอดภัยตัวอย่างนี้แล้ว ยังต้องหวาดกลัว สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ เดี๋ยวนี้ข้าพระพุทธเจ้า แม้ไปอยู่ป่า แม้จะอยู่ใต้ร่มไม้ แม้จะอยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่น ๆ ก็ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่รังเกียจ ไม่สะดุ้งแล้ว ไม่ต้องขวนขวาย มีขนเป็นปกติ ไม่ลุกชันเพราะความกลัว อาศัยอาหาร ที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพมีใจดุจมฤคอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์อย่างนี้แล้ว จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ๆ”

พระบรมศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานชมเชยขึ้นในเวลานั้น

เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง
ท่านภัททิยะนั้นเกิดในตระกูลสูง ทั้งท่านก็ได้เป็นกษัตริย์ เสวยราชสมบัติแล้วด้วย ถึงอย่างนั้น ก็ยังสละราชสมบัติออกบวช ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับความสรรเสริญ จากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภัททิยโอรสของพระนางกาฬิโคธา เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูง(อุจจกุลิกานํ) ในศาสนาของเรา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก