หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระควัมปติเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระควัมปติเถระ
 
ชาติภูมิ - เหตุที่ออกบวช
พระควัมปติ เป็นบุตรของเศรษฐีในพระนครพาราณสี เป็นสหายที่รักใคร่กับท่านพระยสะ เมื่อยสกุลบุตรออกบวชแล้ว ท่านได้ทราบข่าวจึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรสหายของตนออกบวชนั้น จักไม่เลยทรามต่ำช้าแน่นอน คงจะเป็นธรรมวินัยอันดี ควรที่เราจะเข้าไปหา แล้วบวชเช่นนั้นบ้าง เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว จึงพร้อมด้วยสหายอีกสามคน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ พากันเข้าไปหาท่านพระยสะ

พระยสะก็พาท่านพร้อมด้วยสหายเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์ตรัสสั่งสอน พระองค์ตรัสสอนด้วย เทศนาอนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในเวลาที่จบเทศนา ธรรมจักษุ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นพระธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระองค์เถิด” พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา

บรรลุอรหัตผล - ประกาศศาสนา - นิพพาน
เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้า ได้ฟังธรรมีกถาที่พระองค์ตรัสสอนในภายหลัง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ที่นับเข้าในจำพวกสาวกผู้ใหญ่ฯ ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ท่านก็ได้ไปประกาศพระศาสนา ในนานาชนบท ช่วยสั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดาเกิดความเลื่อมใส เมื่อดำรงอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ

ข้อมูลเพิ่มเติม
อนุปุพพิกถา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ แจกออกโดยประเภทเป็น ๕ คือ
๑. ทานกถา พรรณนาทาน คือ การให้ก่อน
๒. สีลกถา พรรณนาศีล คือ การรักษา กาย วาจาให้เรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน
๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือ กามคุณที่บุคคลใคร่ ซึ่งจะพึงได้พึงถึงด้วยกรรมอันดีคือ ทานและศีลเป็นลำดับแห่งศีล
๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษแห่งกามคือ ความเป็นของไม่ยั่งยืนและประกอบด้วยความคับแค้นแห่งกามอันได้ชื่อว่าสวรรค์นั้นเป็นลำดับแห่งสวรค์
๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากการเป็นลำดับแห่งกามาทีนพ

อริยสัจ ของจริงแห่งพระอริยะ หรือ ความจริงอันประเสริฐ แจกโดยประเภทเป็น ๔ คือ
๑. ทุกข์ ความทนได้ยาก ได้แก่สภาวทุกข์และเจตสิกทุกข์
๒. สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น
๔. มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดฯ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก www.geocities.com/piyainta

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก