หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระกุมารกัสสปเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ
" น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้า
น่าอัศจรรย์จริง พระธรรม
น่าอัศจรรย์จริง พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแหล่งที่พระสาวกได้อาศัยประพฤติพรหมจรรย์ จนทำให้รู้แจ้งซึ่งธรรม "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระกุมารกัสสปะ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในเรือนสกุล ในกรุงหงสวดี เจริญวัย กำลังฟังธรรมกถาของพระทศพล เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร

จึงกระทำกุศลกรรม ให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนี้ เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิ ของเทวดาและมนุษย์ ครั้งศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า เสื่อมลง เป็นภิกษุรูปหนึ่ง ในหมู่ภิกษุ ๗ รูป กระทำสมณธรรม บนยอดเขา มีศีลไม่เสื่อม จุติจากภพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระกุมารกัสสปเถระ บังเกิดเป็นบุตรของธิดาเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลัง ชนทั้งหลายเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะเจริญขึ้น ด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร หรือเพราะพระศาสดา เคยตรัสเรียกเช่นนี้ เพื่อให้แตกต่างจากกัสสปะองค์อื่นๆ

มารดาตั้งครรภ์ขณะบวชเป็นภิกษุณี
มารดาของท่าน มีความปรารถนาอยากจะบวช ตั้งแต่แรกรุ่นยังสาว ได้อ้อนวอน ขออนุญาตจากบิดาอยู่บ่อย ๆ มารดาบิดาไม่ยอมอนุญาต ต่อมานางมีสามี ตั้งครรภ์ขึ้นยังไม่ทันรู้ตัว นางอุตส่าห์ปฏิบัติสามี ให้มีความยินดีแล้ว ก็อ้อนวอนขอบรรพชา

ครั้นเมื่อสามีอนุญาตแล้ว ได้ไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี ซึ่งเป็นฝ่ายของพระเทวทัตต์ ภายหลัง นางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณี ได้เห็น เกิดความรังเกียจ จึงได้นำนางไปหาพระเทวทัตต์ ให้ตัดสินชำระอธิกรณ์

พระเทวทัตต์ตัดสินว่า ภิกษุณีนี้ ไม่เป็นสมณะ ให้สึกเสีย นางได้ฟังคำพระเทวทัตต์แล้ว เกิดความเสียใจ จึงพูดว่า พวกท่าน อย่าให้ดิฉันฉิบหายเสียเลย ดิฉันไม่ได้บวช มุ่งหมายพระเทวทัตต์ ขอพวกท่าน จงพาดิฉันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด

พระอุบาลีชำระอธิกรณ์
พวกนางภิกษุณี จึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้น ให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาทรงทราบว่า นางภิกษุณี ตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะปลดเปลื้อง ความสงสัยของชนเหล่าอื่น จึงรับสั่งให้พระอุบาลี ชำระอธิกรณ์เรื่องนี้ และให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ ๆ ในพระนครสาวัตถี มีนางวิสาขา และ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น มาพร้อมกัน แล้วร่วมกันพิสูจน์ ก็รู้ชัดว่า นางมีครรภ์ ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสิน ในท่ามกลางบริษัทสี่ว่า นางภิกษุณีนี้ ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้น มีครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบ ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้ เป็นบุตรบุญธรรม และให้นามว่า “กัสสปะ”

ทารกนั้น เจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยง อย่างราชกุมาร ชนทั้งหลายจึงได้เรียกว่า “กุมารกัสสปะ

วันหนึ่ง กุมารกัสสปะ ลงไปเล่นกับพวกเด็ก ๆ ด้วยกันที่สนาม ได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกัน ถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีพ่อแม่ ตีเอาพวกเราเข้าแล้ว กุมารกัสสปะ ได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระราชา ชั้นแรก พระองค์ตรัสบอกว่า แม่นมเป็นมารดา เขาไม่เชื่อ อ้อนวอนถามอยู่บ่อย ๆ พระองค์จึงตรัสบอกความจริง

ขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้า
กุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกบวช พระองค์ก็ทรงอนุญาต ได้พาไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา

ครั้นเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนา อุตส่าห์เรียนเอาพระกรรมฐาน ในสำนักพระบรมศาสดา เข้าไปสู่ป่า เพียรพยายาม ก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงกลับมาเรียนพระกรรมฐานเพิ่มเติม แล้วไปอยู่ที่อันธวันวิหาร

สหายเก่าผูกปัญหาให้แก้ ๑๕ ข้อ
ครั้งนั้น สหายของท่าน ซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกัน ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอนาคามิผล ตายแล้ว ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาหาท่าน แล้วผูกปัญหาให้ ๑๕ ข้อ บอกว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดา ไม่มีใครสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ ท่านจงไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา เรียนเอาเนื้อความ แห่งปัญหาเหล่านี้เถิด

ท่านพระกุมารกัสสปะ ก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร
ท่านมีความสามารถแสดงธรรม แก่บริษัทสี่ได้อย่างวิจิตรพิสดาร มีข้ออุปมาอุปไมย พร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในอุบาย สั่งสอนบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อท่านแสดงสูตร ประดับด้วยปัญหา ๑๕ ข้อ แก่พระเจ้าปายาสิ จนสามารถทำลายมิจฉาทิฏฐิ ของพระองค์ได้สำเร็จ

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือ แสดงธรรมเทศนา ได้อย่างวิจิตรในพระศาสนานี้ (จิตฺตกถิกานํ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระกุมารกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก