หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร ก่อนที่พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปมุมุตตระทรงอุบัติ ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงสงสวดี ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาขึ้นตามลำดับ แล้วได้ออกบวชเป็นดาบส มีชฏิลเป็นบริวาร เป็นจำนวนมาก

ในกาลต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่เหล่าสัตว์ ผู้ควรแก่การตรัสรู้ จึงไปยังพระวิหารพร้อมกับมหาชน นั่งอยู่ท้ายบริษัทแล้วฟังธรรมอยู่ เห็นพระศาสดา ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นธรรมกถึก จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นเช่นนี้บ้าง ในอนาคต

ในเวลาจบเทศนา เมื่อบริษัทลุกขึ้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลนิมนต์ แล้วกระทำมหาสักการะ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยการกระทำอันยิ่งนี้ ข้าพระองค์ มิได้ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น ก็ภิกษุนั้น พระองค์ทรงตั้งไว้ ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นธรรมกถึก ในที่สุดของวันที่ ๗ ฉันใด แม้ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น พึงเป็นผู้เลิศ แห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นธรรมกถึก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ได้ทำความปรารถนาแล้ว

พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคต ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักอุบัติขึ้น เธอบวชในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้านั้น จักเป็นผู้เลิศ แห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพระธรรมกถึก

ท่านกระทำกรรมอันงาม ตลอดชั่วอายุ จุติจากอัตภาพนั้น เก็บรวมบุญสมภารอยู่แสนกัป ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษย์โลกทั้งหลาย

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระ บังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า “ปุณณะ” เรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณี ว่า ปุณณมันตานีบุตร

ปุณณมาณพ เป็นหลานของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะนางมันตานีพราหมณี ผู้เป็นมารดาเป็นน้องสาวของท่าน การที่ปุณณมาณพ จะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นลุง เป็นผู้ชักนำมาให้บวช

พระอัญญาโกณฑัญญะ ให้บวชในพุทธศาสนา
ในตอนที่พระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นลุง ไปที่กรุงกบิลพัสดุ์ ได้ให้ปุณณมาณพ ผู้หลานชาย บวชในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปุณณะบวชแล้ว ไปอยู่ในที่ชาติภูมิ บำเพ็ญเพียร ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์

ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ
ท่านพระปุณณะ ตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ อย่างคือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ แม้เมื่อมีบริวารท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ

ครั้นต่อมา ภิกษุที่เป็นบริวารของท่าน ลาไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลพรรณนาคุณพระอุปัชฌาย์ของตนว่า ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้น และสั่งสอนให้บริวารตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้นด้วย

สนทนาธรรมกับพระสารีบุตรเถระ
ในเวลานั้น พระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้น ทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จัก และสนทนาด้วย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว

พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปหาสนทนาปราศรัยกันแล้ว ไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ ท่านพระปุณณะ ก็วิสัชนาชักอุปมาอุปมัย เปรียบเทียบด้วยรถ ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้งสองก็อนุโมทนาภาษิตของกันและกัน

เอตทัคคะในทางผู้เป็นพระธรรมกถึก
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น อาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณเช่นใดแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณเช่นนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องสรรเสริญ ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณะนี้ เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้เป็นธรรมกถึก (ธมฺมกถิกานํ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นพระธรรมกถึก


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก