หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระราหุลเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระราหุลเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
พระราหุลเถระ ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเหมือนกับพระรัฏฐปาละ คือเกิดในครอบครัวคฤหบดีมหาศาล ในกรุงหังสวดี เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาสครองเรือน

เมื่อบิดาของแต่ละคน เสียชีวิตแล้ว ท่านทั้งสอง จึงเรียก คนจัดการคลังรัตนะของตนๆ มาแล้ว เห็นทรัพย์มีอยู่มากมาย คิดว่า คนทั้งหลายมีปู่และปู่ทวดเป็นต้น พาเอากองทรัพย์มากมายเหล่านี้ ติดตัวไปไม่ได้ บัดนี้ เราควรจะถือเอาทรัพย์ติดตัวไปให้ได้

คนทั้งสองนั้น จึงให้มหาทานแก่คนกำพร้า และคนเดินทางเป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง คนหนึ่ง สอบถามคนที่มาแล้วๆ ในโรงทานของตน ผู้ใดชอบใจสิ่งใด เป็นต้นว่า ข้าวยาคูและของขบเคี้ยว ก็ให้สิ่งนั้น แก่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า ผู้กล่าวกะผู้มาแล้ว อีกคนหนึ่งไม่ถามเลย เอาภาชนะที่เขาถือมาแล้วๆ ใส่ให้เต็มๆ แล้วจึงให้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงชื่อว่า ไม่กล่าวกะผู้มาแล้วๆ

ท่านพระราหุล ได้ปรนนิบัติดาบสองค์หนึ่ง ด้วยผลบุญกุศลนั้น ทำให้ท่านไปบังเกิดเป็น พระยานาคราช ต่อมาท่านเวียนว่ายในเทวโลกและมนุษยโลก อยู่หลายพันกัป

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระราหุลเถระ มาบังเกิดเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกบิลพัสดุ์

ทูลขอราชสมบัติ
เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา พระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระราชเทวีได้ส่งราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอราชสมบัติที่ควรจะได้

ราหุลกุมาร ออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัย แสดงความรักใคร่มีประการต่าง ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติ ตามที่เสด็จมา

พระพุทธองค์ทรงประทานอริยทรัพย์
พระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า ก็ทรัพย์สมบัติทั้งหลายมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์มิได้มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุล เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า ถ้าอย่างนั้นสารีบุตรบวชให้ราหุลเถิด

ครั้งนั้น ราหุลกุมารยังเยาว์อยู่ มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร

บวชเป็นสามเณรรูปแรกในพุทธศาสนา
พระบรมศาสดาปรารภเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงพระอนุญาตให้ภิกษุบุตรกุลบุตร ที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณรเป็นครั้งแรก ด้วยไตรสรณคมน์

เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌายะของตนไป ครั้นเมื่อมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

พระบรมศาสดาสั่งสอนด้วยเทศนามหาราหุโลวาท
วันหนึ่ง ท่านพระราหุลอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงเทศนาราหุโลวาทสูตร ซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป

วันหนึ่ง พระราหุลเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาสั่งสอนด้วยเทศนามหาราหุโลวาท ซึ่งว่าด้วย รูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม. และอากาศธาตุ ช่องว่าง, ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างไรว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเรา เป็นต้น ในที่สุด ตรัสสอนให้กรรมฐานอื่น ให้เจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้ว พระราหุลมีจิตยินดีคำสอนของพระบรมศาสดา

บรรลุพระอรหัตผล
ภายหลังพระราหุลได้ฟังพระโอวาท ที่พระบรมศาสดาสั่งสอนในทางวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นแต่ในที่นี้ยก อายตนะภายในภายนอก เป็นต้น ขึ้นแสดงแทนขันธ์ห้า ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา
ท่านพระราหุลนั้น เป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ท่านพระราหุลนั้น ครั้นลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว จึงไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้า พึงได้รับซึ่งโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระบรมศาสดา หรือแต่สำนักพระอุปัชฌายาจารย์ทั้งหลาย ให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทราย ในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้

ด้วยเหตุนั้นพระราหุล จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา (สิกฺขกามานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก