หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระสาคตเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระสาคตเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระสาคตเถระ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี มารดาให้ชื่อว่า “สาคตมาณพ

ชำนาญในฌานสมาบัติแปดประการ
ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบรรพชาอุปสมบท ถือเพศเป็นบรรพชิต ยังฌานสมาบัติแปดประการ ให้บังเกิดขึ้น มีความชำนิชำนาญในองค์ฌานนั้น

ต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปตามชนบท บรรลุถึงภัททวติกาคาม ในพระนครโกสัมพี พระองค์ได้ประทับอยู่ในบ้านนั้น ท่านพระสาคตะ ได้ตามเสด็จไป

ทรมาณอัมพติฏฐนาค
ตามตำนานท่านกล่าวว่า ที่ท่า ชื่อว่าอัมพะ มีพญานาค มีฤทธิ์เดชกล้า ชื่อว่าอัมพติฏฐนาค ท่านพระสาคตะได้ทรมาณพญานาคนั้น ให้เสื่อมสิ้นฤทธิ์เดช แล้วได้กลับไปยังสำนักพระบรมศาสดา ที่ภัททวติกาคาม

เมื่อเสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้น ตามสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้ว ชาวบ้าน ได้ทำการต้อนรับเสด็จพระองค์ ตามสมควร

ชาวบ้านจัดสุราแดงถวายพระสาคตะ
ชาวบ้านเมื่อได้ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าสาคตะ ได้สู้กับพญานาคซึ่งอยู่ ณ ท่าชื่อว่าอัมพะ มีชัยชนะ พากันมีความปีติยินดี มีความประสงค์จะหาของอย่างดี เป็นที่พอใจถวาย จึงเข้าไปหาท่านพระสาคตะ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง จึงกล่าวถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้เจริญ อะไรเป็นของหายาก และชอบใจยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า

พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า สุราอ่อนใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายาก และเป็นของชอบใจยิ่ง ของภิกษุทั้งหลายด้วย ท่านทั้งหลาย จงจัดสุราเหล่านั้นไว้ถวายเถิด

อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นจึงจัดสุรานั้นไว้ทุก ๆ เรือน เมื่อเห็นพระสาคตเถระ เที่ยวบิณฑบาตจึงนิมนต์ท่านว่า ขอพระผู้เป็นเจ้า จงดื่มสุราอ่อนอันแดงใส ดังเท้านกพิราบก่อน พระสาคตะก็ได้ดื่มสุรานั้นทุก ๆ เรือน ด้วยอำนาจสุรา ทำให้ท่านมึนเมาลืมสติ เมื่อออกจากพระนคร ก็ล้มลงที่ประตูนคร

ต้นเหตุบัญญัติห้ามภิกษุดื่มสุรา
พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้พวกภิกษุ พยุงเธอไปสู่วิหาร แล้วทรงตำหนิติเตียน มีประการต่าง ๆ ในท่ามกลางสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุไม่ให้ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไปว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ” แปลความว่า “เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัยฯ”

ครั้นรุ่งขึ้นพระสาคตะ สร่างเมาได้สติแล้ว กราบทูลขอขมา ให้พระบรมศาสดาทรงยกโทษแล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจ ในการกระทำเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อุตส่าห์เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญเตโชสมาบัติ
ต่อมาภายหลัง เมื่อพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงตั้งท่านพระสาคตะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ (เตโชธาตุกุสลานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระสาคตเถระ เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญเตโชสมาบัติ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก