หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระโสณโกฬิวิสเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระโสณโกฬิวิสเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านโสณโกฬิวิสเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลเศรษฐี พวกญาติขนานนามของท่านว่า สิริวัฑฒนกุมาร ท่านเจริญวัยแล้วไปวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุนี้ในอนาคต

จบเทศนา จึงนิมนต์พระทศพล ถวายมหาทาน ๗ วัน ได้กระทำความปรารถนา พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ ไว้ แล้วเสด็จกลับพระวิหาร

ฝ่ายสิริวัฑฒนเศรษฐีนั้น กระทำกรรมตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลกสิ้นแสนกัป เมื่อพระกัสสปพุทธจ้าปรินิพพานแล้ว ในกัปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าของเรา ยังไม่ทรงบังเกิด ก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่งในกรุงพาราณสี ท่านไปเล่นน้ำ ในแม่น้ำคงคา พร้อมกับหมู่สหายของตน

ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีจีวรเก่า เข้าอาศัยกรุงพาราณสี จึงไปดึงท่อนไม้และเถาวัลย์ ที่ถูกน้ำพัดมาติดอยู่ออก ท่านกับสหายเดินไปอภิวาทแล้ว สอบถาม ทราบความประสงค์ว่า ต้องการที่จำพรรษาแล้ว จึงรับอาสาจะจัดการให้ นิมนต์ท่านรับบิณฑบาตที่เรือน แล้วร่วมมือกับสหายสร้างบรรณศาลา ที่จงกรม ที่พักกลางวันและที่พักกลางคืน ถวายท่านเสร็จในวันเดียว

ท่านว่าเปือกตมบนพื้นดิน จะติดเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงลาดผ้ากัมพลแดง มีมูลค่าหนึ่งพันกหาปณะ อันเป็นผ้าห่มของตน ปิดพื้น เห็นรัศมีสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นเช่นเดียวกับสีผ้ากัมพล ก็เลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง กล่าวว่า จำเดิมแต่เวลา ที่พระคุณเจ้าเหยียบแล้ว ประกายแห่งผ้ากัมพลนี้ แวววาวยิ่งฉันใด แม้วรรณะแห่งมือและเท้าของข้าพเจ้า ก็จงมีสีเหมือนดอกหงอนไก่ ในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้ว เกิดอีก ฉะนั้น ขอให้ผัสสะ จงเป็นเช่นกับผัสสะแห่งแผ่นผ้าฝ้าย ที่เขายีแล้วถึง ๗ ครั้งเทียว

ท่านบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอดไตรมาส ได้ถวายไตรจีวร เมื่อเวลาปวารณาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้ามีบาตรและจีวรบริบูรณ์แล้ว จึงไปยังภูเขาคันธมาสน์ตามเดิม ฝ่ายท่านก็ เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมาเกิดเป็นบุตรของอสุภเศรษฐี ในจำปานคร เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด พวกชาวเมือง นำเครื่องบรรณาการมาให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้ว มีผิวพรรณผุดผ่องงดงาม มารดาบิดาได้ขนานนามว่า “โสณะ” ส่วน โกฬิวิสะ เป็นชื่อแห่งโคตร

โสณเศรษฐีบุตรนั้น เป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสอง ได้รับการบำรุงบำเรอจากมารดาบิดาเป็นอย่างดี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ

พระเจ้าพิมพิสารขอทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้า
ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ใคร่จะขอทอดพระเนตร โลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา

โสณเศรษฐีบุตร พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณแปดหมื่น ก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ตามรับสั่งพระเจ้าพิมพิสาร ได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจสี่ ที่พระองค์ตรัสสอนชาวบ้าน ประมาณแปดหมื่น ก็เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสก แล้วหลีกไป

ขอบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ส่วนโสณเศรษฐีบุตร เข้าไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง เห็นว่าผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้วนั้น ไม่ใช่จะทำได้โดยง่าย ข้าพระพุทธเจ้า อยากจะบวช ขอพระองค์ จงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระบรมศาสดาทรงให้บวชตามประสงค์

ทำความเพียรอย่างอุกกฤตแต่ยังไม่บรรลุธรรม
ครั้นโสณโกฬิวิสะ บวชแล้ว ไปทำความเพียรอยู่ที่สีตวัน ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุด จนเท้าแตกก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมาดำริในใจว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดา ที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนั้น จิตของเรา ก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ สมบัติในตระกูลของเรา ยังมีอยู่ ถ้ากระไร เราจะสึกออกไปเสวยสมบัติ และบำเพ็ญกุศลจะเป็นการดีกว่า

พระพุทธองค์ชี้ทางปฏิบัติสายกลาง
ฝ่ายพระบรมศาสดา ได้ทรงทราบว่า พระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียร เดินจงกรมจนเท้าแตก แล้วคิดเช่นนั้น จึงเสด็จไปถึงที่อยู่ แห่งพระโสณโกฬิวิสะ ตรัสสอนให้ปรารภความเพียร แต่พอปานกลาง ไม่ยิ่งนักไม่หย่อนนัก ยกเปรียบเทียบ ด้วยสายพิณสามสาย ครั้นตรัสสอนแล้วได้กลับไปที่ประทับ

พระโสณโกฬิวิสะ ตั้งอยู่ในโอวาท ที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก เจริญวิปัสสนาไม่ช้าไม่นาน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร
ครั้นต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา กราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำจะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระของหนัก อันวางแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้ว มีธรรมที่ทำให้ติดอยู่ในภพ หมดสิ้นแล้ว รู้ชอบ จึงพ้นแล้วจากอาสวะ ภิกษุผู้อรหันต์นั้น น้อมเข้าไปแล้วในคุณหกสถาน คือ น้อมไปแล้วในบรรพชา ในที่สงัด ในความสำรวมไม่เบียดเบียน, ในความไม่ถือมั่น, ในความไม่มีความอยาก และในความไม่หลง

พระบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะ พยากรณ์พระอรหันต์ กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเทียบ และเพราะท่านได้ปรารภความเพียร ด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์

ต่อมาภายหลัง พระบรมศาสดา มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ทรงแสดงธรรมในพระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ปรารภความเพียร (อารทฺธวิริยานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระโสณโกฬิวิสเถระ เอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก