หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระจูฬปันถกเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระจูฬปันถกเถระ
" พระดำรัสของพระพุทธเจ้า ทำให้ผมยินดีอยู่ในศาสนา
บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แล้วผมก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หมดสิ้น "
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระจุลปันถกะ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เกิดเป็นกุฎุมพีสองพี่น้อง ในเมืองหังสวดี เสื่อมใสในพระศาสดา ไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดาเนืองนิตย์

ในกุฎุมพี ๒ พี่น้องนั้น วันหนึ่ง น้องชายเห็นพระศาสดา สถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภิกษุรูปนี้ เป็นยอดของบเหล่าภิกษุ ผู้นิรมิตกายมโนมัย และเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏ ในพระศาสนาของเรา จึงคิดว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ภิกษุนี้ เป็นคนเดียวทำ ๒ องค์ ให้บริบูรณ์ แม้เรา ก็ควรเป็นผู้บำเพ็ญมีองค์ ๒ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในอนาคตบ้าง

ท่านจึงนิมนต์พระศาสนา ถวายมหาทาน แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุที่พระองค์สถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นยอดในศาสนาของพระองค์ ด้วยองค์มโนมัย และด้วยความเป็นผู้ฉลาด ในเจโตวิวัฏ แม้ข้าพระองค์ ก็พึงเป็นผู้บำเพ็ญองค์ ๒ บริบูรณ์ เหมือนภิกษุนั้น ด้วยผลแห่งกรรม อันเป็นอธิการนั้น

พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคต ก็ทรงเห็นว่า ความปรารถนาท่าน จะสำเร็จ โดยหาอันตรายมิได้ ทรงพยากรณ์ว่า โคตรมะ จักอุบัติขึ้น พระองค์จักสถาปนาเธอไว้ ในฐานะ ๒ นี้ ทรงอนุโมทนาแล้ว เสด็จกลับไป

ท่านกับพี่ชาย คือ ท่านมหาปันถกะ เมื่อพระศาสดา ยังทรงพระชนอยู่นั้นอยู่ กระทำกุศลกรรมแล้ว เมื่อเวลาพระศษสดาปรินิพพานแล้ว ได้บูชาด้วยทอง ที่พระเจดีย์บรรจพระสรีระ จุติจากภพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในเทวโลก ท่านกับพี่ชาย เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ถึงแสนกัป

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ท่านจูฬปันถกะออกบวช เจริญโอทาตกสิณ ล่วงไป ๒๐,๐๐๐ ปี ไปบังเกิดในสวรรค์

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระจูฬปันถก บังเกิดเป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทาง มีพี่ชายชื่อ ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทางเหมือนกัน ท่านเป็นน้อง มีคำว่า จูฬข้างหน้า จึงเป็น จูฬปันถก ผู้เป็นพี่ชาย เติมคำว่า มหาข้างหน้า จึงเป็น มหาปันถก

ธิดาเศรษฐีได้เสียกับคนใช้
มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยเป็นสาวแล้ว บิดามารดาป้องกันรักษาอย่างเข้มงวด ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่เจ็ด แต่ธิดานั้น เป็นคนโลเล มีนิสัยไม่แน่นอนในผู้ชาย จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน

ต่อมา กลัวคนอื่นจะรู้ จึงชวนกันหนีออกจากปราสาท ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่น ที่คนไม่รู้จักตน ภายหลังภรรยาตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์แก่ใกล้จะคลอด จึงตกลงกับสามีว่า จะไปคลอดที่บ้านเดิม ส่วนสามี กลัวบิดามารดาลงโทษ แต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงอาสาว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผัดวันประกันพรุ่งว่า พรุ่งนี้ก่อนค่อยไป จนล่วงไปหลายวัน ภรรยาเห็นเช่นนั้น จึงรู้ถึงความประสงค์ของสามี

คลอดบุตรกลางทาง
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน จึงสั่งคนผู้คุ้นเคยกัน อยู่ในบ้านใกล้เคียงกัน ให้บอกเรื่องที่ตนไม่อยู่ แก่สามี หนีออกจากเรือน เดินไปตามหนทาง พอถึงระหว่างทาง ก็คลอดบุตรเป็นชาย ส่วนสามี เมื่อกลับบ้านไม่เห็น ภรรยาสืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิม จึงออกติดตามไปทันในระหว่างทาง แล้วพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า ปันถก กาลต่อมาก็คลอดบุตรโดยทำนองนั้นอีก จึงตั้งชื่อว่า จูฬปันถก เพราะเกิดทีหลัง ตั้งชื่อบุตรคนแรกว่า มหาปันถก เพราะเกิดก่อน

เมื่อมหาปันถกเติบโตแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกัน ได้ยินเด็กพวกนั้นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียก จึงไปถามมารดาว่า แม่ครับ เด็ก ๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่า ตาบ้าง ยายบ้าง ก็ญาติของเรา ในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ ?

มารดาของท่านตอบว่า ลูกเอ๋ย ญาติของเจ้าในที่นี้ ไม่มีหรอก แต่ตาของลูกชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้น ญาติของเรามีมากมาย ท่านจึงถามต่อไปว่า ก็แล้วทำไม แม่ไม่ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้น

ฝ่ายมารดา ไม่บอกความจริงแก่ลูก ลูกจึงรบเร้า ถามอยู่บ่อย ๆ จนเกิดความรำคาญ ปรึกษากับสามีว่า พวกลูกของเรารบเร้าเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดา เห็นลูกแล้ว จะฆ่าจะแกงเชียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจะพาลูกทั้งสองไปเมืองราชคฤห์ เมื่อถึงแล้ว พักอาศัยที่ศาลาหนังหนึ่ง ใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกธนเศรษฐีผู้เป็นบิดา

พอบิดารู้ว่าลูกสาว พาหลายชายสองคนมาเยี่ยม ธนเศรษฐีมี ความแค้นยังไม่หาย จึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมีย อย่ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย ถ้าต้องการอะไร ก็จงถือเอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่จงส่งหลายทั้งสองมาให้ฉัน ฉันจะเลี้ยงดูเอง

สองสามีภรรยา ก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้ว ก็กลับไปอยู่ที่เดิม ส่วนเด็กทั้งสอง ก็อยู่ที่บ้านของธนเศรษฐีผู้เป็นตา จนเจริญวัยขึ้น

มหาปันถกออกบวช
มหาปันถก เมื่อเจริญวัย ได้ไปฟังเทศน์กับตาในสำนักของพระศาสดา ที่พระเวฬุวันมหาวิหารเป็นประจำ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธา เลื่อมใคร่จะบวชจึงบอกตา ตาก็อนุญาติให้บวช พระศาสดา จึงตรัสรับสั่งภิกษุรูปหนึ่ง ให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออาจุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็อุปสมบทเป็นภิกษุ เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

มหาปันถกผู้เป็นพี่ ชักชวนให้บวช
เมื่อพระท่านมหาปันถก ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ ใคร่จะให้ความสุขเช่นนั้น เกิดแก่จูฬปันถกบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตา เพื่อขอให้จูฬปันถกบวช ตาก็อนุญาตให้ตามความประสงค์ พระมหาปันถกจึงให้จูฬปันถกบวช

เป็นคนโง่ และหัวทึบ
ครั้นจูฬปันถกบวชแล้ว เป็นคนหัวทึบมาก พระมหาปันถก สอนให้เรียนคาถา พรรณนาพระพุทธคุณ เพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึงสี่เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า
ปทุมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ
ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ
ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ฯ


แปลว่า เธอจงดูพระสักยมุนีอังคีรส ผุ้มีพระรัศมีแผ่ซ่าน ออกจากพระบวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบาน ปานหนึ่งว่า ดอกบัวชื่อ โกกนุทมีกลิ่นหอม ย่อมขยายกลีบแล้วบานในตอนเช้า มีกลิ่นเรณูไม่จางหาย ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ ดุจดวงอาทิตย์อันส่องสว่าง แผดแสงอยู่กลางท้องฟ้า ฉะนั้น

ถูกมหาปันถกผู้เป็นพี่ชายขับไล่
ท่านพระมหาปันถก ทราบว่าท่านจูฬปันถกโง่เขลามาก จึงประณาม ขับไล่ออกจากสำนักของท่าน ในขณะที่ท่านเป็นภัตตุเทศก์ หมอชีวกโกมารภัจจ์ มานิมนต์ภิกษุไปฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับพระจูฬปันถกเข้าด้วย

พระจูฬปันถก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดจะไปสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถก เธอจะไปไหนในเวลานี้ พระจูฬปันถกกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่ข้าพระองค์

พระบรมศาสดาประทานผ้าขาว ให้ทำบริกรรม
พระศาสดาจึงตรัสเตือนสติท่านว่า จูฬปันถก เธอบวช เพื่อพี่ชายเมื่อไรเล่า เพื่อเราต่างหาก เมื่อพี่ชายขับไล่ ทำไมไม่มาหาเรา มาเถิด ประโยชน์อะไร ด้วยฆราวาสมาอยู่กับเราดีกว่า พระจูฬปันถก เข้าไปเฝ้าแล้ว พระองค์ทรงลูบศีรษะ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วพาไป ให้นั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ ให้นั่งลูบคลำทำบริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ (ผ้าเช็ดธุลี ๆ) เมื่อท่านลูบคลำ ทำบริกรรมไม่นาน ผ้านั้น ก็เศร้าหมอง เหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่า ผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์ อย่างเหลือเกิน พอมาถูกร่างกายนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไป สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ แล้วได้เจริญวิปัสสนา

บรรลุพระอรหัตตผล
พระศาสดา ทรงทราบจึงตรัสสั่งสอนด้วยพระคาถา ในเวลาจบพระคาถา พระจูฬปันถก ได้บรรลุพระอรหัตตผล ขณะลูบคลำผ้าบริกรรมอยู่นั้น

พระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จไปยังบ้านของหมอชีวก ครั้นพอเขาเข้าไปถวายภัตตาหาร พระองค์ทรงปิดบาตรเสีย พร้อมกับตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีก ๑ รูป หมอชีวก จึงใช้ให้คนไปตาม

พระจูฬปันถกเนรมิตพระภิกษุจนเต็มวิหาร
ในเวลานั้น พระจูฬปันถกเนรมิต พระภิกษุหนึ่งพันรูป จนเต็มวิหาร เมื่อคนใช้ไปถึง เห็นมีพระมากมายถึงพันรูปจึงรีบกลับไปบอกหมอชีวกโกมารภัจจ์

ลำดับนั้นพระศาสดา ได้ตรัสกะคนไปตามนั้นว่า เจ้าจงไปแล้ว บอกว่า พระศาสดา ตรัสเรียกพระจูฬปันถก คนไปตามนั้น ก็กลับไปวิหารอีกแล้วบอกตามคำสั่ง ภิกษุทั้งหมดพูดขึ้นว่า ฉันชื่อจูฬปันถก คนไปตามนั้น ก็กลับมาอีก กราบทูลว่า ภิกษุเหล่านั้น ชื่อจูฬปันถกทั้งนั้น พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใด พูดขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ ภิกษุรูปที่เหลือจักอันตรธานหายไป คนไปตามนั้น ไปถึงวิหารแล้วทำอย่างนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถก ไปสู่ที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตกิจ ท่านพระจูฬปันถกได้ทำภัตตานุโมทนา

เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ
ต่อมา พระศาสดา ทรงสถาปนาพระจูฬปันถกเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ชำนาญในมโนมยิทธิและในเจโตวิวัฏฏะ เพราะได้รูปาวจรฌาน ๔.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระจูฬปันถกเถระ เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ
ประวัติพระมหาปันถกเถระ พระเถระผู้พี่ชาย


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก