หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระกาฬุทายีเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระกาฬุทายี เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล ณ กรุงหงสาวดี กำลังฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุสาวก ผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงกระทำกุศลกรรม ให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลกรรมตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ ในภพภูมิของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระกาฬุทายี มาเกิดเป็นบุตรมหาอำมาตย์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติ คือ เกิดพร้อมกันกับพระมหาบุรุษ (ผู้ที่เกิดพร้อมในวันเดียวกัน กับพระมหาบุรุษ เรียกว่าสหชาติมี ๗ คือ ไม้มหาโพธิ ๑ พระนางยโสธรา (พิมพา) มารดาพระราหุล ๑ ขุมทองทั้งสี่ ๑ ช้างพระที่นั่ง ๑ ม้ากัณฐกอัศวราช ๑ นายฉันนอำมาตย์ ๑ กาฬุทายีอำมาตย์ ๑ ทั้ง ๗ นี้เกิดพร้อมกัน กับพระมหาบุรุษเจ้า) เดิมชื่อว่าอุทายี เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระมหาบุรุษเจ้า เป็นผู้สนิทสนมแลคุ้นเคยกับพระมหาบุรุษมาก

พระเจ้าสุทโธทนะส่งอำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา
ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษ เสด็จออกทรงผนวช ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จเทศนาสั่งสอนแก่เวไนยสรรพสัตว์ เมื่อเวลาพระองค์เสด็จประทับอยู่ ในกรุงราชคฤห์มหานคร พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระพุทธบิดา ทรงทราบ มีพระราชประสงค์ ใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงมีพระราชโองการ ดำรัสใช้อำมาตย์คนหนึ่ง พร้อมกับบริวารพันหนึ่ง ให้ไปทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมศาสดา

อำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตต์ แล้ว พร้อมด้วยบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ไม่ได้ทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา และทั้งไม่ได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงทราบ

ส่วนพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา เมื่อไม่เห็นพระโอรสเสด็จมา และทั้งไม่ได้ทราบข่าวด้วย จึงใช้อำมาตย์พร้อมด้วยบริวารพันหนึ่งไปอีก อำมาตย์ก็ไปบวชเสีย ไม่ส่งข่าวให้ทราบโดยนัยก่อน ถึงเก้าคนแล้ว

ครั้นครั้งที่สิบ จึงตรัสสั่งให้กาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคย และเป็นคนที่โปรดปรานของพระบรมศาสดา ให้ไปทูลเชิญเสด็จ กาฬุทายีอำมาตย์ทูลลาบวชด้วย

อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พาบริวารพันหนึ่ง ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าบวชให้)

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ ได้อุปสมบทแล้ว เมื่อถึงฤดูหนาว ท่านเห็นเป็นช่วงสมควร ที่จะทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา จึงกราบทูลพรรณนาหนทาง ที่จะเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์

แจ้งข่าวพระศาสดาจะเสด็จกรุงกบิลพุสดุ์
เมื่อท่านกาฬุทายี ทราบว่าพระบรมศาสดา จะเสด็จกลับคืนพระนครกบิลพัสดุ์ จึงล่วงหน้าไปก่อน แจ้งข้อความนั้น แก่พระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยพระประยูรญาติ และประชาชนเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต แก่ท่านทุก ๆ วันที่มาแจ้งข่าว

ส่วนพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สองหมื่น เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ มาตามหนทางวันละโยชน์ กำหนดหกสิบวัน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมื่อกำลังเสด็จมาตามหนทางอยู่นั้น ท่านพระกาฬุทายี ได้มาสู่สำนัก ของพระเจ้าสุทโธทนะ แจ้งระยะทางให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านแล้ว ท่านก็ให้นำไปถวาย แด่สมเด็จพระบรมศาสดาทุก ๆ วัน

เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส
ท่านกาฬุทายีเถระ ทำราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช ผู้ยังไม่พบพระพุทธเจ้าให้เลื่อมใส ด้วยความสามารถของท่าน ในเรื่องนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังสกุลที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส (กุลปฺปสาทกานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระกาฬุทายีเถระ เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก