หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระปิลินทวัจฉเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ
" การที่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้ว
การที่คิดไว้ว่า จักฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วบวช มิใช่ความคิดที่เลว
เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำแนกธรรมทั้งหลายอยู่นั้น เราก็ได้บรรลุโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อ่ครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า เกิดในครอบครัวของผู้มีโภคทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเป็นที่รัก เป็นที่ขอบใจของเทวดาทั้งหลาย ปรารถนาตำแหน่งนั้น กระทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระปิลินทวัจฉเถระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ วัจฉโคตร ท่านชื่อว่า “ปิลินทะ” เรียกชื่อรวมเข้ากับโคตรด้วยว่า ปิลินทวัจฉะ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา บังเกิดศรัทธาแก่กล้า ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคล (บุคคลที่ไม่ต้องศึกษา) ในพระพุทธศาสนา

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถาน (สถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต) ในกรุงราชคฤห์

ชอบเรียกคนอื่นว่าเป็นคนถ่อย
ท่านปิลินทวัจฉะ เมื่อพูดกับคฤหัสถ์ก็ดี ภิกษุก็ดี ใช้โวหารว่า “วสล” ซึ่งแปลว่า “เป็นคนถ่อย” อันเป็นคำหยาบคายทุกคำไป เช่น “มาซิเจ้าถ่อย, ไปซิเจ้าถ่อย, นำไปซิเจ้าถ่อย, ถือเอาซิเจ้าถ่อย” พวกภิกษุทั้งหลาย เป็นอันมาก จึงพากัน เข้ากราบทูลเนื้อความนั้น แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์ทรงรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่ง ไปเรียกตัวเข้ามาเฝ้า ครั้นพระปิลินทวัจฉะ เข้ามาเฝ้าแล้ว ทรงรับสั่งถาม ดูกร ปิลินทวัจฉะ ได้ทราบข่าวว่า เธอร้องเรียกพวกภิกษุ ด้วยวาทะว่า “วสล” จริงหรือ? จึงกราบทูลว่า จริงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า

แม้ในอดีตชาติก็เป็นคนพูดคำหยาบ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนึกถึงบุพเพสันนิวาส(อดีตชาติ) ของท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกล่าวเช่นนั้น แห่งบุตรของเรา จนเคยชินในปัจจุบันเท่านั้น หามิได้ แต่ในอดีตกาล บุตรของเรานี้ บังเกิดในครอบครัวแห่งพราหมณ์ ผู้มักกล่าวว่า ถ่อย ถึง ห้าร้อยชาติ ดังนั้น บุตรของเรานี้ จึงกล่าวเพราะความเคยชิน มิได้กล่าวด้วยเจตนาหยาบ จริงอยู่ โวหารแห่งพระอริยะทั้งหลาย แม้จะหยาบอยู่บ้าง ก็ชื่อว่าบริสุทธิ์แท้ เพราะไม่หยาบ ไม่เป็นบาป แม้มีประมาณเล็กน้อย เพราะการกล่าวนี้

เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์
พระปิลินทวัจฉเถระ มีวาจาสิทธิ์รูปหนึ่ง เช่น วันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์ พบชายผู้หนึ่ง ถือดีปลีเต็มถาด กำลังเดินเข้ามาในกรุง จึงถามว่า เจ้าถ่อย ในภาชนะของท่าน มีอะไร ชายผู้นั้นคิดว่า สมณะรูปนี้กล่าวคำหยาบกับเราแต่เช้าเทียว เราควรกล่าว คำที่เหมาะ แก่สมณะรูปนี้เหมือนกัน จึงตอบว่า ในภาชนะของฉัน มีขี้หนูซิท่าน พระเถระพูดว่า เจ้าถ่อย มันจักต้องเป็นอย่างว่านั้น เมื่อพระเถระ คล้อยหลังไป ดีปลีก็กลายเป็นขี้หนูไปหมด และก็เป็นทั้งเล่มเกวียน ที่บรรทุกดีปลีมา เขาจะต้องแก้วาจาสิทธิ์ของท่าน โดยการแนะนำของเพื่อน ด้วยการถือดีปลีเต็มภาชนะ ไปยืนข้างหน้าท่าน เมื่อพระเถระกล่าวว่า นั่นอะไรล่ะ เจ้าถ่อย ชายผู้นั้นก็ตอบว่า ดีปลีขอรับท่าน พระเถระกล่าว่า จักเป็นอย่างนั้น เจ้าถ่อย มันก็กลายเป็นดีปลีทั้งหมด

เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา
ครั้นกาลต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะ นั้นได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่รักใคร่เจริญใจของเทพยดา

โดยมีความเป็นมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ พระเถระนี้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงให้มหาชนรักษาศีลห้า ได้ทรงทรงกระทำกุศล ที่มุ่งสู่สวรรค์ เหล่าเทวดา ที่บังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ได้โอวาทของพระองค์นั่นแหละ แล้วตรวจดูสมบัติของตน ในสถานที่ที่บังเกิดแล้ว นึกอยู่ว่า เราได้สมบัติเพราะอาศัยพระเถระ จึงมานมัสการพระเถระ ทั้งเวลาเช้าเวลาเย็น.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระปิลินทวัจฉเถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก