หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระยสะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระยสะ
" ทั้งๆ ที่เนื้อตัว ยังหอมกรุ่นด้วยเครื่องลูบไล้
ทั้งๆ ที่ร่างกาย ยังงามพร้อมด้วยเครื่องประดับ
เราก็ได้บรรลุวิชชา ๓, เราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว "

พระยสะ นั้น เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นผู้บริบูรณ์ มีเรือน ๓ หลังเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู ครั้งหนึ่ง เป็นฤดูฝน ยสกุลบุตรอยู่ในปราสาท เป็นที่อยู่ในฤดูฝน บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรี ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อนบริวาร แสงไฟตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้น เห็นหมู่บริวารนอนหลับ มีอาการพิกลต่าง ๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนก่อน ๆ ปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ยสกุลบุตรเกิดความสลดใจ คิดเบื่อหน่าย ออกอุทานว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

ยสกุลบุตร จึงสวมรองเท้า เดินออกจากประตูเรือนไปแล้ว ออกประตูเมืองตรงไป ในทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เวลานั้น จวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตร ออกอุทานนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน

ยสกุลบุตร ได้ยินอย่างนั้นแล้ว จึงถอดรองเท้าเข้าไปใกล้ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ พรรณนาทานการให้ก่อนแล้ว พรรณนาศีล ความรักษากายวาจาเรียบร้อย พรรณนาสวรรค์ คือ กามคุณ ที่บุคคลจะพึงได้พึงถึง ด้วยกรรมอันดี คือ ทานและศีล พรรณนาโทษแห่งกามอันได้ชื่อว่าสวรรค์นั้น พรรณนาอานิสงส์ แห่งความออกไปจากกาม ฟอกจิตยสกุลบุตร ให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ให้เกิดธรรมจักษุ เหมือนผ้า ที่ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ยกขึ้นแสดงเอง คือ อริยสัจ ๔ อย่าง คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด เหตุให้ทุกข์ดับ และข้อปฏิบัติเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั้นแล้ว ภายหลังพิจารณาภูมิธรรม ที่ตนได้เห็นแล้ว จิตพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร เวลาเช้าขึ้นไปบนเรือน ไม่เห็นลูก จึงบอกแก่เศรษฐีผู้สามีให้ทราบ เศรษฐีให้คนไปตามหาใน ๔ ทิศ ส่วนตนออกเที่ยวหาด้วย เผอิญเดินไป ในทางที่ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ตามเข้าไปถึงพระศาสดาประทับอยู่กับยสกุลบุตร พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ให้เศรษฐีเห็นธรรมแล้ว เศรษฐีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธองค์กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นที่ระลึก ขอพระพุทธองค์ ทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เศรษฐีนั้น ได้เป็นอุบาสก อ้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครบทั้ง ๓ เป็นสรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก.

เศรษฐีผู้บิดา ยังไม่ทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว จึงบอกความว่า พ่อยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศก พิไรรำพันนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด ยสกุลบุตรแลดูพระศาสดา ๆ ตรัสแก่เศรษฐีว่า คฤหบดี ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน แต่ก่อนยสะ ได้เห็นธรรม ด้วยปัญญาอันรู้เห็นเป็นของเสขบุคคล เหมือนกับท่านภายหลัง ยสะพิจารณาภูมิธรรมที่ตนได้เห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะ มิได้ถือมั่นด้วยอุปาทาน ควรหรือยสะจะกลับคือไปบริโภคกามคุณ เหมือนแต่ก่อน

เศรษฐีผู้บิดาจึงกราบทูลว่า เป็นลาภของพ่อยสะแล้ว ความเป็นมนุษย์ พ่อยสะได้ดีแล้ว ขอพระองค์ กับพ่อยสะเป็นสมณะตามเสด็จ จงทรงรับบิณฑบาตของข้าพเจ้าในวันนี้เถิด พระศาสดาทรงรับด้วยความนิ่งอยู่ เศรษฐีทราบว่าทรงรับแล้ว ลุกจากที่นั่ง แล้วถวายอภิวาทแล้ว ทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อเศรษฐีไปแล้ว ไม่ช้า ยสกุลบุตรทูลขออุปสมบท พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยพระวาจาว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ในที่นี้ไม่ตรัสว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว สมัยนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลก เป็นเจ็ดทั้งพระยสะ

ในเวลาเช้าวันนั้น พระศาสดากับพระยสะตามเสด็จ ๆ ไปถึงเรือนเศรษฐีนั้นแล้ว ทรงนั่ง ณ อาสนะที่แต่งไว้ถวาย มารดาและภริยาเก่าของยสะ เข้าไปเฝ้า พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจสี่ ให้สตรีทั้งสองนั้นเห็นธรรมแล้ว สตรีทั้งสองนั้น ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะสตรีทั้งสองนั้น ได้เป็นอุบาสิกาขึ้นในโลกก่อนกว่าหญิงอื่น ครั้นถึงเวลา มารดาบิดา และภริยาเก่า แห่งพระยสะ ก็อังคาสพระศาสดา และพระยสะด้วยของเคี้ยวของฉัน อันประณีตโดยเคารพ ด้วยมือของตน ครั้นฉันเสร็จแล้ว พระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้งสามให้เห็น ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงแล้ว เสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.

ฝ่าย สหายของพระยสะ ๔ คน ชื่อ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรแห่งเศรษฐีสืบ ๆ มาในเมืองพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวทรามแน่แล้ว คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันทั้งสี่คน ไปหาพระยสะ ๆ ก็พาสหายสี่คนนั้นไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอให้ทรงสั่งสอน พระองค์ทรงสั่งสอน ให้กุลบุตรทั้งสี่นั้น เห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบท อนุญาตให้เป็นภิกษุแล้ว ทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตตผล ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๑๑ องค์

ฝ่ายสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน เป็นชาวชนบท ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว คิดเหมือนหนหลัง พากันมาบวชตามแล้ว ได้สำเร็จพระอรหัตตผลด้วยกันสิ้น โดยนัยก่อน เป็นพระอรหันต์ ๖๑ พระองค์

พระยสะและพระสหายเหล่านี้ พระศาสดาทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนา ในคราวแรก พร้อมด้วยพระปัญจวัคคีย์ ตั้งแต่นั้นมาไม่ปรากฏอีก ไม่มีนามในจำพวกพระมหาสาวก อันพระศาสดาทรงยกย่องในที่เอตทัคคะ ชะรอยจะนิพพานสาบศูนย์เสีย ในคราวไปประกาศพระศาสนานั่นเอง.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากหอมรดกไทย www.heritage.thaigov.net
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก