หน้าหลัก พระพุทธเจ้า เมืองสำคัญในพุทธประวัติ เมืองนาลันทา
Search:

“ ....ตถาคตมีวิชชาและ วิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้วย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
สติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วยังมีสติปัฎฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์”

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัจฉิมโอวาท:
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั่งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

หน้าแรก : หมวดพระพุทธเจ้า
สาวัตถี | ราชคฤห์ | สังกัสสะ | เวสาลี | ปาตลีบุตร | คยา | โกสัมพี | กบิลพัสดุ์ | เทวทหะ | เกสาริยา | ปาวา | พาราณสี | นาลันทา
เมืองนาลันทา
ทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ | เป็นศูนย์กลางการศึกษาแม้ในครั้งพุทธกาล
นาลันทา เป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) ณ เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้งคัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของ พระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะ หรือนาลันทคาม

ที่ตั้งของเมืองนาลันทาในปัจจุบัน
นาลันทาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองราชคฤห์ใหม่ประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากเมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประมาณ 90 กิโลเมตร ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ทางรัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกฐานะหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา (ที่ว่าการอำเภออยู่ที่พิหารชารีฟ ตั้งอยู่ห่างจากนาลันทา 12 กิโลเมตร)

นาลันทาในความหมายเชิงนิรุกติศาสตร์
คำว่า นาลันทา วิเคราะห์เชิงนิรุกติศาสตร์ได้ 5 นัย ดังนี้
- โบราณาจารย์บอกว่านาลันทา เลือนมาจากประโยคว่า น อลม ทา แปลว่า ฉันจะไม่ให้ มีตำนานเสริมว่า สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี เป็นที่รู้จักกันดี จนไม่มีใครได้ยินคำว่า ฉันจะไม่ให้

- นาลันทา มาจากคำ 2 คำ คือ นาลัน แปลว่า ดอกบัว และ ทา แปลว่า ให้ หมายถึง ให้ดอกบัว มีตำนานเสริมว่าบริเวณนี้มีดอกบัวมาก แม้ปัจจุบันก็ยังมี ดอกบัวมากอยู่ จึงเป็นเหมือนสถานที่ให้ดอกบัว

- นาลันทา เป็นชื่อพญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ในสระบัวใหญ่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทาปัจจุบัน ตรงกับคตินิยม ของชาวอินเดียในปัจจุบันที่บูชางู มีพิธีเรียกว่านาคปัญจมี มีเมืองชื่อ นาคปุระ

- นาลันทา ประกอบด้วยคำ 3 คำ คือ น, อลัง, และ ทา แปลตามตัวอักษรว่า ให้ไม่พอ แต่ความหมายก็คือ ให้ไม่รู้จักพอ

สมณะอี้จิง บันทึกไว้ว่า นาลันทา แผลงมาจากคำว่า นาคนันทะ ซึ่งอาจตั้งชื่อตามชื่อพญานาคที่ยึดครองที่นั้นและต่อมา พญานาคนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า นาคแห่งนาลันทา หรือ นาลันทานาค ท่านธรรมสวามีชาวทิเบตซึ่งเดินทางมาเยี่ยมที่นี้เมื่อ พ.ศ. 1777 บันทึกไว้ว่า คำว่า นาลันทา หมายถึง เจ้าแห่งมนุษย์ (Lord of men)

นาลันทาในสมัยพุทธกาล
คำว่า นาลันทา ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาหลายครั้งในพุทธกาล เช่น ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเกวัฏฏสูตร แก่บุตรคฤบดีชื่อเกวัฏฏะ และปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งแก้ข้อความพระสูตรเดียวกัน เมืองนาลันทาตั้งอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) มีสถานะเป็นเมืองเล็ก (township) แต่เป็นสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียง เจริญรุ่งเรือง มีคนอาศัยอยู่มาก เป็นศูนย์กลางการค้าขาย เห็นได้จากมีข้อความอ้างถึงเสมอ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จทางไกล ประทับแรม ณ ที่ใดที่หนึ่ง พระสังคีติกาจารย์อ้างเสมอว่า สถานที่นั้นอยู่บริเวณใดแน่ ก็จะอ้างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาว่า อนฺตรา จ ราชคหํ อนฺตรา จ นาฬนฺทํ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เช่น

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป แม้สุปปิยปริพาชก ก็ได้เดินทางไกล ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์...

เมืองนาลันทา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ เป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปมาเสมอ (โคจรคาม) นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญ ใกล้เคียง เช่น สวนมะม่วงชื่อ ปาวาริกะ ซึ่งทุสสิกปาวาริกเศรษฐี น้อมถวาย สวนอัมพลัฏฐิกา ปาฏลิคาม และพหุปุตตเจดีย์ นาลันทาในครั้งพุทธกาล ที่ตั้งและสถานะของนาลันทา

ความสำคัญของเมืองนาลันทาสมัยพุทธกาล
นาลันทามีความสำคัญมาแต่ครั้งพุทธกาล เห็นได้จากกรณีที่พระสารีบุตรบันลือสีหนาท ประกาศความเลื่อมใสของตน ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมี ปัญญาในทางพระสัมมาสัมโพธิญาณ ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า

เนื่องจากพระสารีบุตรต้องการประกาศ ความเลื่อมใสของตนในเมืองนาลันทา เพราะว่าเมืองนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษา แม้ในครั้งพุทธกาล เป็นศูนย์รวม นักปราชญ์นักวิชาการ พระสารีบุตรซึ่งเป็นเลิศทางด้านปัญญาประสงค์ จะประกาศให้เหล่านักวิชาการ แห่งนาลันทา รับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระผู้มีพระพุทธเจ้า

หลักฐานที่แสดงถึงความสำคัญ ของนาลันทาอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ และทรงแสดงเกวัฏฏสูตร แสดงภาวะนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา ทิฏฐิ 62 เป็นประเด็นที่เจ้าลัทธิต่าง ๆ อภิปรายกันไม่รู้จบ เพราะเป็นประเด็นเชิงอภิปรัชญา ไม่มีใครรู้จริง แต่อภิปรายกันตามความคิดเห็น พระพุทธองค์ทรงแสดง ให้บรรดาเจ้าลัทธิรู้ว่า วัตถุประสงค์และประโยชน์ของทิฏฐิเหล่านี้ คืออะไร มีขอบเขตเพียงไร อานิสงส์ที่เกิดจากการแสดงพระสูตรทั้ง 2 นี้มี 2 ระดับ คือ

ระดับวิชาการ พระพุทธองค์ทรงประกาศให้รู้ว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครอบคลุมภูมิปัญญาทุกระดับ ทิฏฐิ 62 ซึ่งเป็นเรื่องเชิงวิชาการ เป็นปรัชญา พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้ง แต่ไม่ประสงค์จะอภิปรายตอบข้อสงสัย เพราะไม่มีประโยชน์ และจะกลายเป็นประเด็นให้เจ้าลัทธิ นำไปกล่าวอ้างในที่ต่างๆ ว่า พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ อย่างนี้
ระดับอุดมการณ์ พระพุทธองค์ทรงประกาศภาวะยิ่งใหญ่แห่งนิพพานว่า เป็นที่ดับสนิทของมหาภูตรูป เป็นที่ดับสนิทแห่งนาม ภาวะที่เรียกว่านิพพาน นี่แหละคืออุดมการณ์สูงสุดแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

ความรุ่งเรืองหลังพุทธกาล
ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. 944-953 บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ 1 ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 958-998 ได้ทรงสร้างวัด อันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่ง ที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ ต่อๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง 6 วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุด ได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง 6 รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา

มหาวิทยาลัยนาลันทา
พระเจ้าหรรษาวรรธนะ มหาราชพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1149-1191 ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. 1172-1187 ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน 200 หมู่โดยรอบถวาย โดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ

แต่ที่เด่นชัดก็คือ นาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษา เดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมาก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่า หอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. 1223 ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทา และได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านาน จนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. 1303-1685) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อน และหลงเพลินทางกามารมณ์ และทำให้พุทธศาสนา กลมกลืนกับศาสนาฮินดูมากขึ้น เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง แห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา

ความล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา
ในประมาณ พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดงโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถาน ในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญ ทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้น และมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็ได้ถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา ซากของนาลันทา ที่ถูกขุดค้นพบในภายหลัง ยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีตในปลายพุทธศตวรรษที่ 25

การค้นพบนาลันทา
ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย นักโบราณคดีจำนวนมาก ได้มาสำรวจขุดค้นพุทธสถานต่างๆ ในอินเดียโดยอาศัยบันทึกของท่านเฮี่ยนจัง คนแรกที่มาสำรวจ คือ ท่าน ฮามินตัน (Lord Haminton) ใน พ.ศ. 2358 แต่ไม่พบ ได้พบเพียงพระพุทธรูป และเทวรูป 2 องค์เท่านั้น ซึ่งสถานที่พบอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2403 นายพลคันนิ่งแฮม ได้มาสำรวจและก็พบมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงกองดินสูงเท่านั้น ต่อมาจึงได้ขุดสำรวจ ตามหลักวิชาการโบราณคดี มหาวิทยาลัยก็ได้ปรากฏ แก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง บริเวณปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ และตรงหน้ามหาวิทยาลัยนาลันทา ได้มีพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่เก็บรวมรวมโบราณวัตถุ ที่ขุดพบในมหาวิทยาลัยนาลันทา

สถาบันนาลันทาใหม่
อินเดียตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่ได้มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย ใน พ.ศ. 2494 ก็ได้มีการจัดตั้ง สถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” (นาลันทามหาวิหารแห่งใหม่) ขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอดีต

สถาบันนาลันทาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากความเลื่อมใสของ หลวงพ่อ เจ กัสสปะ สังฆนายกรูปแรกของสงฆ์อินเดีย ท่านเป็นชาวเมืองรานชี (Ranchi) เมืองหลวงของรัฐจักกัน ท่านเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย เมื่อเป็นหนุ่มได้ศึกษาพุทธประวัติ เกิดศรัทธาอย่างมาก จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ประเทศศรีลังกา และได้ออกปาฐก แสดงเรื่องความยิ่งใหญ่ ของมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต แก่ผู้นำรัฐบาลในกรุงนิว เดลลี และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ โดยเปิดสอนในปี พ.ศ. 2494 และท่านได้เป็นครูสอน และผู้บริหารของสถาบัน ครั้งแรกเปิดสอนทีวัดจีนนาลันทา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ตรงกันข้ามกับนาลันเก่า

ต่อมาชาวมุสลิมที่อยู่ที่หมู่บ้านนาลันทา ต้องการจะไถ่บาปที่บรรพบุรุษของตนได้ทำไว้แก่ชาวพุทธ จึงมอบที่ดินจำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถาบันบาลีนาลันทาแห่งใหม่ สถาบันนาลันทาใหม่ ครั้งแรกมีเพียงตึก 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ทำงาน ของครูอาจารย์และห้องสมุด อีกหลังหนึ่งเป็นที่พำนักของนักศึกษานานาชาติ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2500

สถาบันนวนาลันทา ที่เปิดสอนด้านภาษาบาลี และพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก และได้รับการรับรอง และสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนิวเดลลี มีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ไปศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไทย พม่า กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก