หน้าหลัก ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา วันเข้าพรรษา
Search:

"พิธีกรรมทางศาสนานั้น เปรียบเสมือนเปลือกของต้นไม้ ต้นไม้ที่ปราศจากเปลือกห่อหุ้ม ย่ิอมไม่สามารถยืนต้นอยู่ได้"


หน้าแรก : หมวดศาสนพิธี
วันเข้าพรรษา
วันสำคัญทางพุทธศาสนา เรียงตามลำดับดังนี้
๑. วันวิสาขบูชา : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ๕. วันเข้าพรรษา
๒. วันอาสาฬหบูชา : ปฐมเทศนา-ประกาศศาสนา ๖. วันออกพรรษา
๓. วันมาฆบูชา : จาตุรงคสันนิบาต-โอวาทปาฏิโมกข์ ๗. วันพระ หรือวันธรรมสวนะ
๔. วันอัฏฐมีบูชา : ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  
เนื้อหาหลักนำมาจาก : หอมรดกไทย และ wiki
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า อยู่)

พิธีเข้าพรรษานี้ ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม การเข้าพรรษาตามปกติ เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี (หรือเดือน ๘ หลัง ถ้ามีเดือน ๘ สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา

วันเข้าพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ ๓ เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทย ทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไป ได้สืบทอดประเพณีิการทำบุญ ในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สาเหตุแห่งการเข้าพรรษา
       สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรง อนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด ๓ เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลง แปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด ๓ เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายใน อาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

       ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (๒๐ ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็น พระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง ๓ เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบท เพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา
๑. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์ หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

๒. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา ๘ - ๙ เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

๓. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา

๔. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

๕. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา


 

      แบบประกอบนักธรรมตรี - ศาสนพิธี เล่ม ๑ : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นตรี
      แบบประกอบนักธรรมตรี - ศาสนพิธีสังเขป : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นตรี
      แบบประกอบนักธรรมโท - ศาสนพิธี เล่ม ๒ : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นโท


   โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
เทศน์วันเข้าพรรษา -:เข้าพรรษาด้วยธรรมะชีวี คลิกฟัง
เทศน์วันเข้าพรรษา -:การจำพรรษา คลิกฟัง
เทศน์วันเข้าพรรษา -:การจำพรรษาด้วยจิตที่มีธรรมะ คลิกฟัง
   โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
วันเข้าพรรษา ๑ คลิกฟัง
วันเข้าพรรษา ๒ คลิกฟัง
วันเข้าพรรษา ๓ คลิกฟัง
วันเข้าพรรษา ๔ คลิกฟัง
วันเข้าพรรษา ๕ คลิกฟัง
   โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
เข้าพรรษา ควรจะรู้อะไร (๕๔.๓๔) คลิกฟัง
เข้าพรรษากับอุดมคติของพระพุทธศาสนา คลิกฟัง
   โดย พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
วันเข้าพรรษา คลิกฟัง
เข้าพรรษา 1990 หลักการภาวนา-พุทโธ คลิกฟัง
สนทนาธรรม-เข้าพรรษา คลิกฟัง

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก