หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่บุดดา ถาวโร
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
๕ มกราคม ๒๔๓๗ - ๑๒ มกราคม ๒๕๓๗
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
--------------------
พระฝ่ายปฏิบัติอื่น ๆ กับหลวงปู่
พระฝ่ายปฏิบัติ อันเป็นที่เคารพสักการะมีอยู่ทุกภาค และแทบทุกท่าน มักจะได้เคยพบวิสาสะกัน ตอนจาริกธุดงค์ เพราะต่างก็แสวงหาสถานที่วิเวก และมีสิ่งเกื้อกูลอื่นๆ เหมือนๆ กัน สถานที่เช่นนั้น จึงเหมือนเป็นจุดนัดพบของพระฝ่ายปฏิบัติ และจุดสำคัญต่างๆ นี้ท่านออกธุดงค์จะต้องผ่าน เช่น ภาคกลาง มีพระพุทธบาท พระพุทธฉาย และเขาวงพระจันทร์ ภาคเหนือ ก็พระแท่นศิลาอาสน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พระธาตุพนม และพระปฐมเจดีย์ของภาคกลางด้วย พระสายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุต สายท่านเจ้าคุณอุบาลี และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สายนี้ พูดได้ว่า หลวงปู่รู้จักเป็นส่วนมาก ที่พรรษาสูงกว่าหลวงปู่เรียกหลวงพ่อ เช่นเรียกหลวงพ่อมั่น หลวงพ่อเสาร์ และอาจารย์สิงห์ ฯลฯ รุ่นเรียกอาจารย์ ก็คือ รุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออ่อนกว่า กล่าวได้ว่า สายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุต กับฝ่ายปฏิบัติธรรมของมหานิกาย สายหลวงปู่เภา พุทธสโร และหลวงปู่บุดดา ท่านไม่มีความรังเกียจ ซึ่งกันและกันเลย จะเห็นได้จากประวัติของท่านสุภัทโท (เจ้าคุณโพธิญาณเถระ) นอกจากนั้น วัดมหานิกาย ที่ถือข้อวัตรปฏิบัติแบบหลวงพ่อเภา กับวัดธรรมยุต ของจังหวัดลพบุรี ท่านก็มีการติดต่อกันอยู่เสมอ

คราวหนึ่งหลวงปู่ได้พบหลวงพ่อสด จันทสโร จากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยบังเอิญ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์ เมื่อได้สนทนาธรรม และร่วมทำวัตรสวดมนต์ โดยมีหลวงพ่อเกรียง กิตติธรรมโม จากวัดหินหักใหญ่ ลพบุรีร่วมธุดงค์มาด้วย ได้ชวนกันจาริกไปพระธาตุดอยสุเทพ โดยธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาแรมเดือน จึงถึงจุดหมายแล้ว เมื่อร่วมพักปฏิบัติธรรมอยู่ ๗๕ วัน ต่างก็แยกทางกันตามอัธยาศัย ซึ่งหลวงปู่ชอบธุดงค์องค์เดียว

หลวงปู่ปานวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา หลวงปู่เรียกหลวงพ่อปาน ท่านบอกว่า “หลวงพ่อปาน ท่านปรารถนาพุทธภูมิ” ท่านออกธุดงค์แต่ละครา มีพระ เณร อุบาสิกา ติดตามเป็นขบวนยาวมาก ที่ที่ท่านพบกันเสมอ ก็คือบริเวณเขาวงพระจันทร์ ที่ซึ่งในเวลาต่อมา หลวงปู่ปานได้มาสร้างเป็นวัดสะพานนาค

สายครูบาศรีวิชัย นอกจากครูบาเองท่านยังสั่งมอบหมายไว้ ก็คือ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งหลวงปู่มีความเคารพเป็นอย่างยิ่ง และนับถือพระสุพรหมยานเถร เป็นพี่ชายของท่าน หลวงปู่สิม พุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่อยู่บ่อย ๆ ด้วยความปิติและเบิกบาน ในอมตธรรมเป็นอย่างยิ่ง

เจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ และแม่ชีบุญเรือนพบหลวงปู่
ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ก่อนจะมาอยู่วัดอาวุธฯ นั้นท่านเคยอยู่วัดสัมพันธวงศ์ และได้พบกับหลวงปู่ ณ ที่นั้นเอง หลวงปู่แนะนำท่านเจ้าคุณ ให้รักษาศีลเท่าชีวิต ท่านก็นำมาปฏิบัติ จนกระทั่งปรากฏแสงสว่างเกิดขึ้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธา และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านเจ้าคุณได้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ท่านก็นิมนต์หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ หลวงปู่ก็มาพักเป็นครั้งคราว และในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มาจำพรรษา ที่วัดอาวุธฯ ๒ ปี ท่านมาครั้งนี้ ท่านเจ้าคุณได้มรณภาพแล้ว โบสถ์ วิหารที่ท่านสร้างไว้ ก็ยังไม่เสร็จ หลวงปู่ท่านมาอยู่ก็ช่วยสร้างศาลา และที่เก็บน้ำไว้ให้ และทอดกฐินร่วมสร้างโบสถ์ ที่ยังค้างอยู่

ขณะที่ท่านเจ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ ได้เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ตอนหลวงปู่อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ เวลาหลวงปู่แสดงธรรม มีคนมาฟังธรรมกันแน่นมาก รวมถึงคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็ได้มีโอกาสฟังธรรม และมอบตัวเป็นศิษย์ ได้นำคำสอนของหลวงปู่มาปฏิบัติ และบำเพ็ญความเพียรด้วยตนเอง จนได้บรรลุธรรม (ปัจจุบันกระดูก กลับกลายเป็นอรหันตธาตุอยู่ ณ วัดอาวุธฯ) ท่านเจ้าคุณ เคารพในปฏิปทาของแม่ชีบุญเรือนมาก ดังนั้น เมื่อท่านเจ้าคุณมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอาวุธฯ และเมื่อคุณแม่ชีบุญเรือน มา สิ้นชีวิตลงแล้ว ท่านเจ้าคุณได้อนุญาตให้สร้างศาลาคุณแม่บุญเรือน ไว้ที่วัดอาวุธฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์

ช่วงปลายชีวิต
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ขณะหลวงปู่บุดดา อายุ ๘๔ ปี ได้มาจำพรรษา ณ วัดอาวุธสิตาราม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ตามที่ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ เจ้าอาวาสนิมนต์ไว้ และในปีนั้นท่าน เจ้าคุณก็ได้มรณภาพลง โดยขณะนั้นทั้งโบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้น ยังไม่แล้วเสร็จ

และในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นั้นเอง หลวงปู่บุดดาได้ช่วยสร้างศาลา และที่เก็บน้ำสำหรับพระสงฆ์ สามเณร และคณะศิษย์ได้ใช้ และเป็นประธานจัดพิธีทอดผ้ากฐิน สมทบสร้างพระอุโบสถ ที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ พร้อมได้สร้างศาลาธรรมสารขึ้น เพื่อเป็นศาลาปฏิบัติกรรมฐาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่บุดดาต้องเข้ารักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจเมื่อหายแล้ว ท่านได้กลับไปเยี่ยมและพักผ่อน ณ วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ จ.เพชรบุรี ช่วงระยะหนึ่งเมื่อจวนเข้าพรรษา หลวงปู่เย็น ทานรโต เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.พักทัน จ.สิงห์บุรี ในสมัยนั้นได้นิมนต์ขอให้หลวงปู่ ไปจำพรรษากับท่าน หลวงปู่จึงได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่เย็น โดยมีพระมหาทอง กาญจโน ศิษย์และอุปัฏฐาก ผู้ใกล้ชิดติดตามมาอยู่ด้วย สำหรับวัดกลางชูศรีเจริญสุขนั้น ได้สร้างมา ตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเป็นวัดร้าง หลวงปู่เย็นได้เริ่มดำเนินการบูรณะ และก่อสร้างโบสถ์ขึ้นก่อน ต่อเมื่อหลวงปู่บุดดามาอยู่ ด้วยบารมีของท่าน และหลวงปู่เย็น และด้วยการบริหารของพระมหาทอง จึงทำให้วัดกลางชูศรีเจริญสุขพัฒนาขึ้น จนเป็นวัดที่มีความสมบูรณ์สวยงามสง่า นับเป็นวัดที่ทันสมัยวัดหนึ่ง

เนื่องจากคณะศิษย์จำนวนมาก ในช่วงหนึ่ง ทราบว่าหลวงปู่เป็นผื่นคันตามตัว ต่างคนต่าง ก็นำแป้งหอมชนิดต่าง ๆ มาน้อมถวายคราวละมาก ๆ เมื่อลากลับ หลวงปู่ได้เมตตานำแป้งที่ได้รับไว้ กลับเอามา แล้วให้แบมือขึ้นเทแป้งใส่ให้ พร้อมกับบอกให้ทาแป้งมงคลเสีย กันขี้กราก ขี้เกลื้อน กันหลง กันลืม ให้หายโรคหายภัย จนกระทั่งเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่ ที่แจกแป้งมงคล ให้คณะศิษย์ธรรมได้หน้าขาว สวยสง่าขึ้นทุก ๆ คน ซึ่งท่านจะแจกให้หมดทั้งพระสงฆ์ สามเณร และโยม พร้อมบอกว่า “ตั้งแต่ศีลแปดขึ้นไป ก็ทาเป็นยาได้.... เอาแป้งไปทาแล้ว มันหายโรคหายภัยได้ จะว่าอย่างไรเล่า !”

หลังจากจบกิจ พรรษาที่ ๔ แล้วท่านได้ออกจาริกทั่วทั้งประเทศไทย ตลอดจนถึงพม่า ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย และได้ออกเทศนาสั่งสอนทั้งภิกษุ สามเณร ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ด้วยการสั่งสอน โปรดสัตว์ ช่วยการก่อสร้างถาวรวัตถุ ระดับคุณธรรมให้สูงขึ้น ทุกเพศชั้นวรรณะ โดยหลวงปู่ได้ออกเยี่ยมเยียน จนถึงที่อยู่ เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่สาวกทั้งหลายว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๒ จนถึง ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่คงจาริกไปโปรดศิษย์และญาติโยม โดยอาศัยรถพาหนะของรถวัดกลางชูศรีฯ และศิษย์ผู้ติดตาม ทั้งพระภิกษุ สามเณรและฆราวาส โดยเฉพาะพระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระมหาทอง กาญจโน) รองเจ้าคณะอำเภอบางระจัน เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข และพระสมบุญ ญาณวิเวโก ได้เฝ้าดูแลใกล้ชิดติดตามท่าน ออกโปรดญาติโยมที่นิมนต์ท่าน แม้ว่าท่านเอง จะไปด้วยตนเองไม่ไหว ต้องอาศัยศิษย์ช่วยพยุงท่านเดินถึง ๒ ท่าน มีพยาบาลจาก รพ.สิงห์บุรี คอยดูแล หลวงปู่ก็ยังรับนิมนต์จากศิษย์ และญาติโยม ออกโปรดด้วยการแสดงธรรม หรือพุทธาภิเษก ฉัน รับสังฆทานร่วมพิธีต่าง ๆ อาจารย์มหาทอง กาญจโน เป็นเจ้าอาวาส และติดตามอุปัฏฐากหลวงปู่มาแต่ปี ๒๕๒๐ จนถึงที่สุดแห่งวาระชีวิตของหลวงปู่

หลวงปู่ได้ปฏิบัติของพระศาสนาดังกล่าวมานี้ ไม่สามารถจะหาที่เปรียบพระคุณหลวงปู่ได้ แม้กระทั่งว่า ศิษย์ได้สอบถามท่านว่า เวลาพักผ่อนของหลวงปู่ เวลาจะหลับ ตั้งใจให้หลับ หรือว่าหลับไปเอง ท่านกล่าวให้ฟังว่า หลับไปเอง กลางวันทำงาน ๑๐ ชม. พักผ่อน ๒ ชม. และกลางคืนทำงาน ๑๐ ชม. พักผ่อน ๒ ชม. เว้นแต่หลวงปู่เจ็บป่วย จากการสอบถาม และได้รับเมตตาจากหลวงปู่เล่าให้ฟัง ปะติดปะต่อมา

หลวงปู่ได้เคยไปสนทนาธรรมพบปะ และเยี่ยมเยียนกันกับพระเถระ ที่มรณภาพไปแล้วหลาย ๆ ท่าน ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หลวงพ่อเติม หลวงพ่อจาด หลวงพ่อจง หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อปาน มีทั้ง ๓ ปาน ครูบาพรหมจักร ท่านเจ้าคุณนรฯ เจ้าคุณอุบาลี สมเด็จพุฒาจารย์ (อาสภเถระ) หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ชา ท่านพุทธทาส หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่วัย หลวงพ่อสังวาลย์ หลวงพ่อพุธ ครูบาชัยวงษา หลวงพ่อแพ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แว่น หลวงพ่อคง จันตตามโร ครูบาธรรมชัย หลวงพ่อมหาอำพัน หลวงปู่สาม หลวงปู่โง่น ครั้งป่วยอยู่ รพ.ศิริราชฯ และพระเถระที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ สมเด็จสังฆราชญาณสังวรฯ หลวงพ่อเพ็งฯ, หลวงพ่อ บุญเพ็ง, หลวงปู่เหรียญ, อาจารย์วิชัย, อาจารย์จำเนียร, อาจารย์จรัล, หลวงพ่อเหรียญ, หลวงพ่ออุตตมะ ฯลฯ

ส่วนฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ที่นิมนต์หลวงปู่ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ได้โปรดอย่างทั่วถึง ผู้ที่ได้เคยใกล้ชิดท่าน บ้างจะทราบได้ทันทีว่า บารมีหลวงปู่ เมื่อไปอยู่ใกล้ท่าน จะได้รับความสงบเยือกเย็นอย่างประหลาด แต่ก็ยังมีบางท่าน ไม่เข้าใจในปฏิปทาในช่วง ที่ท่านอายุมากแล้ว เช่นหลวงปู่แจกแป้ง หลวงปู่จับเงินทอง หลวงปู่จับหัวสตรี หลวงปู่ห่มผ้าไม่เหมือนพระองค์อื่น หลวงปู่ไม่ค่อยจะสอนวิธีปฏิบัติ หลวงปู่นอนห้องแอร์ และอื่น ๆ เนื่องจากท่านเหล่านั้น ไม่ได้ติดตามหลวงปู่เป็นเวลานาน ๆ เท่าที่ควร และเพิ่งจะได้พบหลวงปู่ ช่วงที่อายุมากแล้ว ขอให้ท่านได้ติดตามศึกษาชีวประวัติท่านให้ตลอดก่อน และหลักธรรมคำสอนที่ท่านได้แนะนำให้มาตลอด

ซึ่งหลวงปู่ได้เคยเตือนว่า ในสมัยพุทธกาล เศรษฐีได้ถ่มน้ำลาย ไล่พระอรหันต์ขี้เรือน ที่บิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐี ตายไปต้องตกนรกถึง ๕๐๐ ชาติ และชาติที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดา ก็ยังต้องถูกโจรฆ่าตาย เนื่องจากบุคคลเหล่านั้น ได้พบหลวงปู่เวลาสั้น ๆ จึงขอให้ท่านขอขมากรรมและ ขออโหสิกรรมต่อท่านเสีย

หลวงปู่เล่าว่า แม้ท่านจะจำพรรษาที่แห่งเดียวติดต่อกันบ้างบางแห่ง แต่ท่านว่า ท่านไม่เคยอยู่ที่ใดติดต่อกันตลอดทั้งปี เพราะพอออกพรรษา หลวงปู่ก็ออกจาริกธุดงค์ ไปตามป่าตามเขา จนอายุใกล้ ๗๘ ปี ร่างกายของท่านทรุดโทรมแล้ว จึงหยุดเข้าป่าขึ้นเขา แต่ท่านก็ยังจาริกไปตามอัธยาศัย ท่านบิณฑบาตโดยไม่กลับย้อนหลัง บิณฑบาตที่เชียงใหม่ ไปฉันที่เชียงราย คือ วันหนึ่งท่านฉันมื้อหนึ่ง และเว้นไปอีกวันท่านจึงฉัน จนกระทั่งท่านอายุมากแล้ว อายุ ๘๐ ปี ท่านจึงหยุดการปฏิบัติตนเองแบบเคร่งครัด เพื่อพักผ่อน กายสังขารตามคำนิมนต์ของบรรดาศิษย์

อาจารย์มหาทอง กาญจโน เจ้าอาวาส วัดกลางชูศรีฯ เป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ติดตามอุปัฏฐากหลวงปู่บุดดามาแต่ปี ๒๕๒๐ เริ่มแต่วัดอาวุธวิกสิตาราม กทม. ได้กล่าวว่า “หลวงปู่เป็นพระพอดี ไม่ได้เกินดี ไม่ได้ขาดดี” เช่น ถามเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ หนาวไหม หนาวพอดี ร้อนไหม ร้อนพอดี เกี่ยวกับการขบฉัน การเจ็บป่วย จะไม่เคยเรียกหา อะไรเพิ่มเติมเลย เวลาท่านฉัน ไม่เคยบอกก่อนเลยว่า ท่านเจ็บป่วย ต้องสังเกตเอาเอง และคอยสอบถามท่านว่า ไม่สบายมีอาการเป็นอย่างไร

ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านเคยอธิฐานไม่นอนเลย ระหว่างเข้าพรรษา ก็ทำมาแล้ว ธุดงค์โดยไม่ต้องมีกลดมีมุ้ง ทางแถบชายทะเลตะวันออก ยุงกัดเลือดท่านบินไม่ไหว ท่านกล่าวว่าไม่เกิน ๗ วัน เดี๋ยวมันก็ตายไปเองอยู่แล้ว สงสารมัน แต่ข้าพเจ้าก็เกิดอัศจรรย์ใจราวปี ๒๕๒๙ ที่ได้ไปพบท่านจำวัด ณ วัดกลางชูศรีฯ โดยที่ท่านไม่ต้องกางมุ้ง แต่ไม่เห็นมียุงกัดกินเลือดท่านเลย

ละสังขาร
สำหรับพระอรหันต์ ถึงแม้ว่ามีคุณวิเศษ สามารถแยกจิตกับกายออกจากกันได้แล้วก็ตาม แต่ย่อมไม่สามารถที่จะบังคับให้กายสังขาร ทรงความมีชีวิตให้ยิ่งยืนนานตลอดไปได้ ฉันใด กายสังขารของหลวงปู่บุดดา ถาวโร ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่บุดดาได้ไปร่วมพิธีทำบุญ ๑๐๐ วัน หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถร (หลวงพ่อฤาษี) ณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลังท่านกลับถึงวัดกลางชูศรีเจริญสุขแล้ว เวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. หลวงปู่มีอาการป่วยกะทันหัน พระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระอาจารย์ มหาทอง) จึงได้นำส่งโรงพยาบาลสิงห์บุรี นายแพทย์วิศิษฐ์ ถนัดสร้าง ได้นำหลวงปู่เข้าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่โรงพยาบาล หมอประเจิดพบว่า สมองด้านซ้ายฝ่อ เส้นโลหิตอุดตัน และปอดอักเสบ หลวงปู่หอบ เพราะเสมหะตกค้างในปอดมาก แพทย์ตัดสินใจใส่ท่อ ช่วยหายใจทางปาก

- ๙ ก.พ. ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหลวงปู่เข้าเป็นคนไข้พระราชูปถัมภ์ คณะแพทย์สิงห์บุรี จึงได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาล ศิริราช ณ ห้องไอซียู โดยมี ศ.พ.ญ. นันทา มาระเนตร์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้
- ๑๑ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้รับการรักษาที่ห้องอภิบาลการหายใจ (อาร์ซียู) ตึกอัษฏางค์ ชั้น ๒ หลวงปู่อาการดีขึ้นตามลำดับ หายใจได้เอง
- ๑๔ ก.ค. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้ย้ายไปที่ห้องพิเศษ ตึก ๘๔ ปี ห้อง ๘๐๘ โดยอยู่ในความ ดูแลของแพทย์และพยาบาลประจำตึก มีพระอุปัฏฐากอยู่ประจำ ๒ รูป
- ๒๖ พ.ย. ๒๕๓๖ หลวงปู่มีอาการทรุดลง ทั้งหอบและไอ แพทย์ได้นำเสมหะไปเพาะ เชื้อปรากฏว่าหลวงปู่ติดเชื้ออย่างแรง
- ๒ ธ.ค. ๒๕๓๖ แพทย์ได้ย้ายหลวงปู่กลับไปที่ห้องอาร์ซียูอีกครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น
- ๑๑ ม.ค. ๒๕๓๗ ช่วงกลางคืน อาการหลวงปู่สุดวิสัยที่คณะแพทย์จะเยียวยารักษาได้

วันดับขันธ์แห่งดวงประทีปพุทธศาสนา
เช้าของวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ อาการของหลวงปู่ได้ทรุดหนักลง พระมหาทอง (พระครูโสภณจารุวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตอาการของหลวงปู่ เห็นดังนั้น จึงได้แจ้งให้คณะแพทย์ทราบ โดยคณะแพทย์ได้เรียกระดมแพทย์ ที่ให้การรักษามาทำการเยียวยา อย่างสุดความสามารถ

พระมหาทองได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ท่านได้เฝ้าดูอาการหลวงปู่มาอย่างใกล้ชิด จึงคาดว่า ไม่ช้านี้หลวงปู่คงมรณภาพ เพราะอาการขณะนี้ มีเปอร์เซ็นต์ให้หวังได้เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ระบบการหายใจแย่ลงทุกที พระครูโสภณจารุวัฒน์ หรือมหาทองได้ กล่าวอีกว่า หลวงปู่บุดดา เคยสั่งเอาไว้ว่า หากท่านมรณภาพ ไม่ให้จัดพิธีงานศพใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง

แต่แล้วเมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. ทางคณะแพทย์ ได้แจ้งให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้ที่เฝ้ารอดูอาการของหลวงปู่ที่หน้าห้องไอซียู ว่าหลวงปู่ได้ละสังขารไปอย่างสงบแล้ว เหมือนสายฟ้าฟาดลงมายังบรรดาสานุศิษย์ ที่มารอฟังข่าวของหลวงปู่ และยังเป็นข่าวร้ายอีกด้วย

เป็นเวลา ๓๔๐ วัน ที่หลวงปู่ต้องทนต่อสู้กับโรคปอดบวม สมองซีกซ้ายฝ่อและเส้นโลหิตอุดตัน ท่ามกลางความเศร้าสลด ของบรรดาคณะแพทย์ ที่ให้รับการรักษา และสานุศิษย์ทั้งหลาย ที่มารอเฝ้าดูอาการจนวาระสุดท้ายก่อนจะสิ้นลม สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี ๗ วัน ๗๓ พรรษา

ดวงประทีปแห่งพุทธศาสนาได้ดับสูญไปอีกดวงหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่หลวงปู่บุดดาได้สอนไว้ยังคงอยู่
"คนเราจะเป็นสุขเมื่อรู้จักพอดี ไม่มีใคร ได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไปโดยไม่สูญสิ้น ขอเพียงแค่รู้จักพอดีทุกคนจะเป็นสุข" (คราวที่หลวงปู่ได้รับการรักษาที่ โรงพยาบาลตำรวจก็ได้รับการสงเคราะห์จากศิษย์ผู้อำนวยการ รพ. ตำรวจเป็นอย่างดีและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเยี่ยมด้วย)

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าที่ ๓ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก