หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
หลวงปู่ตื้อ  อจลธมฺโม
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ - ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗
วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
--------------------
พบกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
และแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็ได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งจะมีสหธรรมิกรูปสำคัญต่อไปในอนาคต พระธุดงค์หนุ่มรูปนี้ มีปฏิปทาลีลาอะไรหลายอย่าง ละม้ายเหมือนหลวงปู่ตื้อมาก เป็นต้นว่า เป็นพระภิกษุหนุ่มฝ่ายมหานิกายที่ออกจาริกธุดงค์แต่ลำพัง อย่างโดดเดี่ยวกล้าหาญ โดยไม่มีครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน แนะนำคอยชี้ทางให้เลย พระธุดงค์รูปนี้มีนามว่า หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พบกันครั้งแรกที่ป่านภูพาน ขณะนั้นหลวงปู่ตื้อจาริกธุดงค์มาจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นที่ชอบอัธยาศัยถูกใจกันยิ่งนัก หลวงปู่ตื้อเองก็ใฝ่ใจปรารถนาอยากจะพบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ได้เหมือนกันเพราะได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์เลื่องลือ เกี่ยวกับพระอาจารย์มั่นมามาก แต่ยังไม่ได้พบสมใจหวังสักที

ทั้งสองได้ปรึกษาหารือกันว่า หากวาสนายังมีคงจะได้พบกับอาจารย์มั่นสมใจหวัง เราอย่าเร่งรัดตัวเองและกาลเวลาเลย ถ้าไม่ตายเสียก่อน จะต้องได้สดับธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นแม่นมั่น ในระหว่างนี้เราควรจะจาริกธุดงค์ไปตามมรรคาของเราก่อน

ทั้งหลวงปู่ตือ และหลวงปู่แหวน เริ่มต้นเดินทางสู่เมืองลาวที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พอข้ามแม่น้ำโขงแล้งก็พบแต่ป่า ต้องเดินมุดป่าไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนเป้าหมายจะเป็นหลวงพระบาง ในการเดินทางเท้านั้น ตลอดทางมักได้พบสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก และได้อาศัยเดินตามรอยช้าง เพราะสะดวกสบายดี ถ้าใครเคยขึ้นภูกระดึง และเคยมุดป่าบนหลังภู จะพบทางเดินของช้างบนนั้น

พระภิกษุหนุ่มทั้งสองท่าน จะเดินธุดงค์ไปตลอดทั้งกลางวัน พอพลบค่ำก็เลือกพักใกล้หมู่บ้านคน พอได้โคจรบิณฑบาตยามเช้า ท่านได้เล่าถึงชาวป่าเผ่าหนึ่ง พบระหว่างทางในตอนใกล้ พระอาทิตย์ตกดินชาวป่าเหล่านั้น เอากระติบข้าเหนียวมาถวายเดินแถวเข้ามานับสิบ เพื่อถวายอาหารด้วย พวกเขาไม่ทราบพระรับอาหารยามวิกาลไม่ได้ แต่มีศรัทธาบอกว่า “งอจ้าวเนียวงอจ้าวเหนียว” ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ทั้งสองท่านจึงบอกว่า อาหารไม่รับ ขอรับน้ำร้อนก็พอ ซึ่งก็ได้พยายามสื่อความหมาย จนกระทั่งรู้เรื่องกันได้

พอรุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องทำการบิณฑบาตแบบโบราณคือ ไปยืนอยู่หน้าบ้าน ทำเป็นหวัดกระแอมไอ ให้เขาออกมาดู เขาไม่เข้าใจ ก็ทำนิ้วชี้ลงที่บาตร จึงได้ข้าวมาฉัน คนป่าเผ่านั้น คงจะไม่เคยรู้จักพระมาก่อน ไม่รู้วินัยพระ ไม่รู้ธรรมเนียมพระ

ต่อมาท่านได้ธุดงค์เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระจำพรรษา มีแต่เพียงสามเณรอยู่รูปเดียว สามเณรรูปนั้น เห็นพระอาคันตุกะสองรูปนั้นมาเยี่ยม ก็ดีใจ หาที่นอนหาน้ำร้อนมาถวาย ถวายเสร็จแล้วสามเณรรูปนั้นก็หลบไป

อีกสัดครู่หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวน ก็ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต้กกระต้าก แล้วก็เงียบเสียงลง อีกสักพักหนึ่งก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมา และอีกสักพักหนึ่ง ไก่ย้างก็ถูกนำมาวางตรงหน้าท่านทั้งสอง “นิมนต์ท่านครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวก็กำลังร้อน ๆ นิมนต์ครับ”

ในที่สุดหลวงปู่ทั้งสองถึงเมืองหลวงพระบาง

แม้ว่าบางครั้งท่านจะแยกกันธุดงค์ แต่มีหลายครั้งที่ท่านมีโอกาสจำพรรษาร่วมกัน และเป็นคู่อรรถคู่ธรรมที่แปลกมาก กล่าวคือ เรื่องอุปนิสัยที่แตกต่างกัน หลวงปู่ตื้อ ท่านเป็นพระที่ชอบพูดชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน และเวลาพูดเสียงท่านจะดัง แต่หลวงปู่แหวนกลังเป็นพระที่พูดน้อย เสียงเบา ไม่ชอบเทศน์ มีแต่ให้ข้อธรรมสั้น ๆ มีปฏิปทาเรียบง่าย

ธรรมโอวาท
สำหรับการแสดงธรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนา ของปู่ตื้อ อจลธมฺโมนั้น ท่านแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมา แสดงธรรมตามทัศนะของท่าน มีคนชอบฟังมาก หลวงปู่เล่าว่า โลกนี้ เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาป เมื่อทำแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้ พ่อแม่เรานั้นทำกรรม เราเกิดมาก็ทำกรรมไป อะไรที่สุดของกรรม ไม่มีใครรู้ได้ทำบาปแล้ว มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
1. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นโสดาปัตติมรรค จิตก็เป็นโสดาปัตติผล
2. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นพระสกิทาคามิมรรค จิตก็เป็นพระสกิทาคามิผล
3. จิตตานุปัสสนา จิตไม่คิดมีผัวเมีย ออกบวช จิตก็เป็นพระอนาคามิมรรค จิต ก็เป็นพระอนาคามิผล
4. จิตตานุปัสสนา จิตไม่กล่าวมุสาวาท จิตก็เป็นพระอรหัตมรรค จิตก็เป็นพระอรหัตผล อีกนัยหนึ่ง
1. จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
2. จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
3. จิตออกบวช จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
4. จิตไม่ขี้ปด จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

หลวงปู่สอนว่า “ธรรมะคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เองมิใช่อื่น พุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้ เองมิใช่ใครอื่น เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่แตกเราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ” หรือ.......

ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำอะไรจริงจัง คือการตัดสินใจอย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานหรอก เราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการ ความกลัวทุกอย่างจะหายไปหมด

ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้วคือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมายอย่างหลวงตา นับตั้งแต่บวชมาได้ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างแท้จริง จนทุกวันนี้ไม่เคยลดละเลยและท้อถอยเลย” หรือ........

นักธรรม นักกรรมฐานต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ 1. น้ำจิตน้ำใจต้องแข็งแกร่งกล้าหาญไม่กลัวต่ออันตรายใด ๆ 2. ต้องเที่ยวไปในกลางคืนได้ 3. ชอบอยู่ในที่สงัดจากจน 4. ทำอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสำเร็จเป็นจุดหมาย” หรือ.....

สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าคนตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคน เป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่เป็นพุทธะได้ แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไม่ได้ ร่างกายก็มีให้พิจารณาว่าเป็นของเน่าเป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหมคนเรา

และเมื่อเทศน์จบลง ท่านชอบถามผู้ฟังว่า “ฟังเทศน์หลวงตาดีไหม” คำถามเช่นนี้ ท่านบอกว่า หมายถึงการฟังธรรมครั้งนี้ ได้รับความสงบเย็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม?

ท่านชอบตักเตือนเสมอว่าการปฏิบัติธรรมนั้นอย่างที่ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดำเนินมานั้นท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหมายในการปฏิบัติธรรม พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ

การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดำเนินไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดีเพราะจะเป็นประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้วก็เร่งพยายามทำความดีต่อไป

ปัจฉิมบท
ในปี พ.ศ.2517 นับเป็นปีที่ 4 ที่ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า แดนมาตุภูมิของท่าน ในพรรษานี้ใครเลยจะนึกว่า ท่านจะจากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ก่อนเข้าพรรษาท่านเคยพูดเสมอว่า
ใครต้องการอะไรก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว ขันธ์ 5 นี้ เมื่อมันยังไม่แตกดับก็อาศัยมัน แตกดับแล้วก็อาศัยอะไรมันไม่ได้ ขันธ์ 5 ของหลวงตาก็จะดับแล้วเหมือนกัน

และบ่อยครั้งที่ท่านพูดว่า “ธาตุลมของหลวงตาได้วิบัติแล้ว บางครั้งมันเข้าไปแล้วก็ไม่ออกมา นานที่สุดจึงออกมา และเมื่อมันออกมาแล้วก็ไม่อยากจะเข้าไป”

ท่านแสดงธรรมแต่ละครั้นนั้นนานมาก ท่านได้สงเคราะห์ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ท่านได้ให้อะไรสารพัดอย่าง บางครั้งท่านได้หยุดในระหว่างเทศน์ เมื่อเทศน์จบลงแล้วท่านบอกว่า
“ขันธ์ 5 จะดับแล้ว ธาตุลมวิบัติแล้ว” จึงได้กราบเรียนถามท่านว่า “ท่านหลวงตาไม่เหนื่อยหรือ?”

ท่านบอกว่า “ขันธ์ 5 จะได้หยุดการแสดงธรรมเหมือนกัน แต่ถ้าจิตไม่หยุดมันก็หยุดไม่ได้ การแสดงธรรม เป็นหน้าที่ของเรา เกิดมาเพื่อทำประโยชน์ทั้งนั้น ได้ความดีแล้วก็ต้องทำความดี เพื่อความดีอีก คนเกิดมารู้จัก พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงจะเป็นคน ไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้จักพระธรรมให้ดีที่สุด” จึงจะเรียกได้ว่า พระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระกรรมฐา

เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ท่านฉันเช้าตามปกติแต่ก็ไม่มากนัก สังเกตดูอาการท่านเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากทีเดียว นับแต่เวลาเช้าไปท่านพักผ่อนเล็กน้อย แสดงธรรมตลอดแต่พูดเบามาก

ขณะที่ท่านกำลังเทศน์อยู่นั้น มีพระภิกษุสามเณรจากต่างจังหวัด มาถวายสักการะและรับฟังโอวาท ท่านให้ลูกศิษย์ช่วยพยุกลุกขึ้นนั่ง เมื่อลุกขึ้นนั่งแล้วท่านพูดว่า “สังขารไม่เที่ยง หลวงตาเกิดมาก่อน ก็ต้องไปก่อนตามธรรมดา” ท่านเทศน์ประมาณ 15 นาที คณะสงฆ์นั้นก็ลากลับไป

ขณะนั้นเวลาประมาณ 16 นาฬีกา ท่านเหนื่อยมากที่สุด พูดเบามาก ท่านบอกว่า “ลมวิปริตแล้ว ไม่มีแล้ว”
จานกนั้นท่านได้ให้พรลูกศิษย์ว่า “พุทุโธ สุโข ธมฺโม สุโข สงฺโฆ สุโข จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”

แล้วท่านก็หัวเราะ แล้วยิ้มให้ลูกศิษย์ อันเป็นลักษณะเดิมของท่าน แสดงว่าท่านมีอารมณ์ดี ไม่สะทกสะท้านต่ออาการที่เกิดขึ้น
ในขณะนั้นมีท่านอาจารย์อุ่น ท่านอาจารย์วาน และพระภิกษุสามเณรหลายสิบรูปเฝ้าดูอาการของท่านด้วยความเป็นห่วงเป็นใย
แม้ท่านจะเหนี่อยมาสักปานใดก็ตาม แต่ท่านก็ยังพูดอยู่เรื่อย ๆ ถึงเสียงจะเบา แต่ก็พอฟังรู้เรื่องว่า ท่านพูดว่าอะไร

วาระสุดท้ายท่านพูดว่า
“ธาตุในหลวงตาวิปริตแล้ว”

จากนั้นท่านไม่พูดอะไรอีกเลย กิริยาอาการทุกอย่างสงบเงียบทุกคนแน่ใจว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ถึงมรณภาพแล้ว เวลา 19 นาฬิกา เศา ท่ามกลางสานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยความอาลัยยิ่ง แต่เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ท่านได้ไปสันติสุขที่สุดแล้ว สิริรวมอายุได้ 86 ปี

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก