หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระองคุลิมาลเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระองคุลิมาลเถระ
" ผู้ใด เคยประมาทมาก่อนแล้วเลิกประมาทเสียได้ภายหลัง
ผู้ใด ทำบาปกรรมไว้แล้ว ละได้ด้วยกุศล (มรรคจิต)
ผู้นั้น ย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้

ภิกษุใด แม้จะยังหนุ่ม แต่หมั่นปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ภิกษุนั้น ย่อมเป็นเหมือนพระจันทร ์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้ "

ท่านพระองคุลิมาลเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต ของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ในพระนครสาวัตถี มารดาชื่อว่านางมันตานีพราหมณี

เกิดในฤกษ์มหาโจร
เมื่อท่านคลอดจากครรภ์มารดา ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ บรรดาเครื่องศาสตราอาวุธยุทธภัณฑ์ อันมีอยู่ในเรือนนั้นก็ดี เครื่องพระแสงศาสตรวุธ ของพระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็ดี ก็บังเกิดรุ่งเรือง เป็นเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ

ฝ่ายปุโรหิตาผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงออกจากเรือนเล็งแลดูฤกษ์บน ฤกษ์นั้นก็ปรากฏในอากาศประหลาดใจหนักหนา ด้วยว่าบุตรนั้น จะเกิดเป็นโจร ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงเข้าไปสู่ที่เฝ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงทราบ

ผลที่สุด ได้กราบทูลให้พระองค์จับกุมประหารชีวิตเสีย แต่พระองค์หาทรงทำไม่ จึงรับสั่งให้บำรุงเลี้ยงรักษาไว้ ปุโรหิตาจารย์ ก็อภิบาลบำรุงรักษากุมารนั้นไว้ และให้นามว่า “เจ้าอหิงสกกุมาร” แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน เพราะถือเอาตามนิมิตเหตุ เมื่อคลอดนั้น ครั้นเมื่อเจ้าอหิงสกกุมาร เจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงส่งไปสู่พระนครตักกศิลา เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนวิชา และศิลปศาสตร์

ศึกษาศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์
เมื่อเจ้าอหิงสกกุมาร ไปถึงพระนครตักกศิลาแล้ว ก็เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ขอศึกษาศิลปวิทยา อุตส่าห์กระทำวัตรปรนนิบัติเป็นอันดี และมีปัญญาเล่าเรียนได้ว่องไว แม้จะเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใด ๆ ก็รู้จบสิ้นทุกประการ เชี่ยวชาญยิ่งกว่าศิษย์ทั้งปวง จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

ฝ่ายมาณพทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนเล่าเรียนด้วยกันนั้น ก็บังเกิดความริษยา จึงประชุมปรึกษากัน เพื่อคิดอุบายทำลายเจ้าอหิงสกกุมารเสีย

อาจารย์ถูกยุยง จึงวางอุบายกำจัดอหิงสกะด้วย “วิษณุมนต์”
เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว ได้ไปยุยงอาจารย์ถึงสองครั้งสอง สามครั้ง (ว่าอหิงสกะ เป็นชู้กับภรรยาของอาจารย์) ในที่สุด อาจารย์ก็ปลงใจเชื่อ คิดหาอุบาย ที่จะกำจัดอหิงสกกุมาร เมื่อเห็นอุบายเป็นที่แยบคายแล้ว จึงพูดกะเจ้าอหิงสกกุมารว่า ดูกรมาณพ เจ้าจงไปฆ่าคน แล้วตัดเอานิ้วมาให้ได้พันนิ้ว แล้วจงนำมา เราจะประกอบศิลปศาสตร์อันชื่อว่า วิษณุมนต์ ให้แก่เธอ

ในขั้นต้น เจ้าอหิงสกกุมาร มีความรังเกียจ ไม่พอใจ เพราะตนเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ควรเบียดเบียนฆ่าสัตว์ เป็นการผิดประเพณี วงศ์ตระกูลมารดาบิดา แต่ด้วยอาศัยความอยากสำเร็จศิลปะศาสตร์ อันมีชื่อว่าวิษณุมนต์ จึงได้ฝืนใจทำ

เริ่มจับอาวุธ ผูกพันให้มั่นกับตัวแล้ว ก็ลาอาจารย์เข้าสู่ราวป่า เที่ยวพิฆาตฆ่ามนุษย์ อันเดินไปมาในสถานที่นั้น ๆ ครั้นฆ่าแล้ว มิได้กำหนดนับเป็นคะแนนไว้ ประการหนึ่งจิตก็มิได้คิดว่า จะกระทำบาปหยาบช้า เหตุดังนี้ จึงมิได้กำหนดคนที่ตนฆ่าตาย ก็บังเกิดลบเลือนสงสัย

ฆ่าตัดนิ้วทำเป็นพวงมาลัย
ตั้งแต่นั้นมาเมื่อฆ่าคนตายแล้ว ก็ติดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงไว้ ดุจดังพวงมาลัยนับได้ถึง ๙๙๙ นิ้ว เพราะเหตุฉะนั้น อหิงสกกุมารจึงมีนามปรากฏว่า “องคุลิมาลโจร” แปลว่าโจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลา

ข่าวคราวเรื่องนี้ ระบือกระฉ่อนไปตามนิคมชนบทต่าง ๆ มหาชนมีความสะดุ้ง ตกใจกลัว ก็พร้อมกันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อกราบทูลให้พระองค์กำจัดเสีย เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้ตระเตรียมกำลังพล เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจร ฆ่าเสีย

ปุโรหิตอาจารย์ ผู้เป็นบิดาทราบว่าอันตรายจะมีแก่บุตร จึงปรึกษากับนางพราหมณี ให้นางพราหมณีรีบออกไปก่อน เพื่อบอกเหตุนั้น ให้บุตรทราบ

พระพุทธองค์เสด็จห้ามการทำมาตุฆาต
ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตผล ขององคุลิมาลโจร ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภาระ ก็จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เสีย จักเป็นเหตุเสื่อมเสียจากมรรคผล

จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่ เมื่อพบเข้าแล้ว องคุลิมาลโจรก็ตรงเข้าไล่ทันที หมายจะพิฆาต ฆ่าเอานิ้วพระหัตถ์ แม้ไล่เท่าไรก็ไม่ทัน จนเกิดกายเหนื่อยเมื่อยล้า จึงร้องตะโกนให้พระบรมศาสดาหยุด พระองค์จึงตรัสบอกว่า พระองค์ได้หยุดแล้ว แต่เขาก็ยังไล่ตามไม่ทัน จึงหาว่าพระองค์ตรัสมุสาวาท พระองค์ก็ตรัสบอกว่า เราหยุดจากการทำอกุศล อันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านยังไม่หยุด

มหาโจรกลับใจ
พระสุระเสียงนั้น ทำให้องคุลิมาลโจ รรู้สึกสำนึกโทษของตน จึงเปลื้องเครื่องศาสตราวุธ และมาลัยนิ้วมือออกจากกาย ทิ้งไว้ในซอกภูเขา แล้วเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำพาเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร

ครั้นเวลารุ่งเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ชาวพระนครได้เห็นท่านแล้ว เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน พากันวิ่งเข้าไปในกำแพง พระราชวังปิดประตูพระนครเสีย และพูดจากันต่าง ๆ นานา บางคนพูดว่า ท่านพระองคุลิมาลปลอมเป็นสมณะ เพื่อหลบหนีราชภัย บางคนพูดว่า เพื่อหวังจะประทุษร้ายคนภายในพระนคร

ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหน ก็มีเสียงโจษจันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่เพียงทัพพีเดียว ภิกษุรูปใดไปกับท่าน ภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย

ทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์
แต่ก็เป็นโชคของท่านอย่างหนึ่ง ที่ท่านทำน้ำมนต์ ให้หญิงมีครรภ์คลอดง่ายที่สุด คือ ครั้งหนึ่ง ท่านทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง หญิงคนนั้น ก็คลอดบุตรง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม ตั้งแต่นั้นมา ก็มีคนนิยมนับถือท่านจนกระทั่งว่า แท่นที่ท่านนั่งคนเอาน้ำไปรด แล้วใช้เป็นน้ำมนต์ ก็ให้ผลสมความประสงค์เช่นเดียวกัน

คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้นนิยมกัน ได้แก่ “ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญิจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส” ดังนี้ แปลว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้ว โดยอริยชาติ ยังไม่รู้สึกตัวว่า ได้แกล้งปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยอำนาจสัจจวาจานั้น ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่หล่อน และครรภ์ของหล่อนเถิด”

บรรลุธรรม
ท่านพระองคุลิมาลนั้น เป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจเจริญสมณธรรม แต่จิตฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิได้ เพราะคนที่ฆ่าประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่ตรงหน้า

พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงเสด็จมาแนะนำสั่งสอน ไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว แลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรม ที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว ท่านประพฤติตาม ไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอริยสาวก นับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก