หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
๓๐ สิงหาคม ๒๔๔๑ - ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗
วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
--------------------
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)

พระสุพรหมยานเถร เดิมชื่อ พรหมา พิมสาร เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2441 ณ บ้านป่าแพ่ง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของพ่อเป็ง และแม่บัวถา มีพี่น้องทั้งหมด 13 คน บิดามารดาของท่านเป็นผู้มีฐานะ มีอาชีพทำนา ทำสวน ประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีความขยันขันแข็ง มีจิตใจหนักแน่นในกุศลธรรม รักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ ในบั้นปลายชีวิตบิดาของท่าน ได้ออกบวช เป็นที่รู้จักกันในนามของครูบาพ่อเป็ง โพธิโก มารดาของท่าน ได้นุ่งขาวรักษาอุโบสถศีล จนถึงแก่กรรม สำหรับพี่น้องของท่าน ที่ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา จนมีชื่อเสียงได้แก่ พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทรจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นพี่ชาย และพระครูสุนทรคัมภีรญาณ (ครูบาคัมภีระ วัดดอยน้อย จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นน้องชาย

การศึกษา
ในขณะเยาว์วัยครูบาพรหมา ได้รับการศึกษาอักษรล้านนาและไทยกลาง ที่บ้านจากพี่ชายที่ได้บวชเรียน แล้วสึกออกไป เมื่อท่านได้บรรพชาแล้วจึงได้ท่องจำบทสวดมนต์ และเข้าโรงเรียนประชาบาล จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่ออุปสมบทแล้ว จึงได้ศึกษานักธรรมด้วยตนเอง ในปี พ.ศ. 2462 ทางการคณะสงฆ์ได้จัดสอบ นักธรรมสนามหลวงขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระมหานายก เป็นผู้นำข้อสอบมาสอบยังวัดพระเชตุพน ในครั้งนั้นมีพระภิกษุเข้าสอบจำนวน 100 รูป ผลการสอบปรากฏว่า มีพระภิกษุที่สอบผ่านจำนวน 2 รูป คือ ครูบาพรหมา และพระทองคำ วัดเชตุพน จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าครูบาพรหมาเป็นพระรูปแรก ของจังหวัดลำพูนที่สอบนักธรรมได้ ภายหลังจากสอบนักธรรมได้แล้ว ท่านได้พยายามหาความรู้ด้านการปฏิบัตธรรม จากครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ พระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน มหาวโน) พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทรจักรรักษา) ผู้เป็นพระพี่ชาย ครูบาแสน ญาณวุฑฒิ วัดหนองเงือก ครูบาบุญมา ปารมี วัดกอม่วง เป็นต้น

บรรพชาและอุปสมบท
ครูบาพรหมา ได้บรรพชาเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2455 ขณะอายุได้ 15 ปี ณ วัดป่าเหียง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาแก้ว ขัตติโย (ครูบาขัตติยะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2461 ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าเหียง โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์

ออกธุดงค์
เมื่อครูบาพรหมาอายุได้ 24 ปี บวชได้ 4 พรรษา ท่านได้ออกธุดงค์ โดยครั้งแรกไปจำพรรษา ณ ดอยน้อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้น ท่านได้ธุดงค์ไปในสถานที่ด่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ และประเทศพม่า และได้จำพรรษาในเขตพม่าเป็นเวาถึง 5 ปี ท่านได้จาริกธุดงค์ถึง 20 พรรษา โดยถือธุดงควัตร อยู่ป่าเป็นวัตร ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ฉันภัตตาหารมื้อเดียว นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านเพียรพยายามอดทน ด้วยวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่สุด ภายหลังจากธุดงค์เป็นเวลานาน ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดหนองเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นเวลา 4 พรรษา หลังจากนั้นได้มาจำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า 1 พรรษา อยู่วัดม่อนมะหิน 2 พรรษา ก่อนจะย้ายกลับไปจำพรรษาอยู่วัดป่าหนองเจดีย์อีก 2 พรรษา ถึงแม้ว่าในช่วงปัจฉิมวัย ครูบาพรหมาจะได้จำพรรษาเป็นประจำ ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้าแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่ทิ้งธุดงควัตร หากโอกาสเหมาะ ท่านก็จะพาพระเณรออกธุดงค์เป็นประจำ

บูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้า
ในปี พ.ศ. 2491 ครูบาพรหมาได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า และได้จำพรรษาอยู่วัดนี้เรื่อยมา จนมรณภาพ ท่านได้เป็นประธานอำนวยการ บูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้า เช่น ต่อเติมยอดมณฑปวิหาร ครอบรอยพระพุทธบาท ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาบูรณะไว้ สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาพระปริยัติธรรม นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม “พรหมจักรสังวรกิตติขจรประชาสรรค์” และเป็นประธานในการบูรณะ วัดพระนอนม่อนช้าง วัดป่าหนองเจดีย์ วัดม่อนมะหิน วัดบ้านหวาย และวัดช้างค้ำ เป็นต้น

หนังสือธรรมะ
ครูบาพรหมาได้เผยแพร่ธรรมะ แสดงพระธรรมเทศนา และเขียนหนังสือธรรม และสุภาษิตคำสอนหลายเล่ม อาทิ หนังสือคำถามคำตอบ เรื่องหนานตั๋นกับหนานปัญญา หนังสือสุภาษิตคำสอน หนังสือทน ศีล ภาวนา หนังสือคำถามคำตอบ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา หนังสืออภิณหปัจเวกขณ์ หนังสือเขมสรณาคมน์ เป็นต้น

สมณศักดิ์
เนื่องจากครูบาพรหมาได้ประกบคุณงามความดี แก่พระพุทธศาสนา ตลอดจนเผยแพร่ธรรมะแก่ศรัทธาสาธุชน เป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด มีปฏิปทาอันงดงาม จนเป็นที่เลื่อมใส ของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูพรหมจักรสังวร ฝ่ายอรัญวาสี ปี 2500 ต่อมาจึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุพรหมยานเถร ในปี พ.ศ. 2519

มรณภาพ
ครูบาพรหมาได้บำเพ็ญสมณธรรมจนย่างเข้าสู่วัยชรา และได้เกิดอาการอาพาธ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก่อนที่ท่านจะละสังขาร ท่านได้ตื่นจากการจำวัดแต่เช้า และปฏิบัติธรรมตามกิจวัตร เมื่อถึงเวลาท่านลุกนั่งสมาธิ และได้ดับขันธ์ (มรณภาพ) ในท่านั่งสมาธิภาวนาในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2527 คณะศิษยานุศิษย์ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2531 ภายหลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิของท่าน ได้แปรเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ ซึ่งสร้างความปิติโสมนัส แก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก